10 เทคนิคการขาย ที่ใช้ได้กับคนทุกกลุ่ม และของทุกอย่างในโลก

10 เทคนิคการขาย ที่ใช้ได้กับคนทุกกลุ่ม และของทุกอย่างในโลก

เรื่องการทำธุรกิจ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่มันก็มีเคล็ดลับหลายข้อ ที่เป็นประโยชน์เสมอไม่ว่าคุณจะขายสินค้าหรือบริการแบบไหน หรือมีกลุ่มลูกค้าเป็นใคร เรียกได้ว่าเป็นพื้นฐานของนักขายที่ประสบความสำเร็จ วันนี้เราเลยจะพาไปดู 10 เทคนิคการขาย ที่ใช้ได้กับของทุกสิ่ง และคนทุกกลุ่ม อยากอัปยอดขายต้องลองให้ครบทุกเทคนิคครับ

  1. คนขายต้องเชื่อก่อน ว่าสิ่งนั้นมันดีจริง

คุณเชื่อไหมว่าของที่ตัวเองขายดีจริง?
คุณจะแนะนำให้คนที่คุณรักซื้อไหม?

ถ้าคำตอบคือ “ไม่” ก็จบกันครับ ถ้าคนขายเองยังไม่คิดว่าของนั้นดี จะโปรโมทแค่ไหนมันก็ปิดกันไม่มิด เพราะคุณเป็นคนที่รู้จักสินค้าหรือบริการนั้นดีที่สุด ตัวคุณเองยังไม่ชอบมัน ไม่อินกับข้อดีของมัน แล้วจะเอา Emotion ที่ไหนไปขายของให้คนอื่น

ฉะนั้นก่อนขายอะไรก็ตาม คุณต้องอินกับมันให้ได้ ทำให้ตัวเองเชื่อก่อนว่ามันดีจริง ๆ แล้วพกความภูมิใจนี้ไปคุยกับลูกค้าซะ

  1. ไม่ใช่แค่ พูดให้ฟังแต่ต้อง ทำให้ดู

ถ้าเคยดูรายการ Home Shopping คุณจะรู้ว่าจอร์จกับซาร่าทุ่มเทขนาดไหนในการสาธิตสินค้า เช่น แทนที่จะบอกแต่ว่าของชิ้นนี้ทนทานมาก ก็หยิบเอาเลื่อยไฟฟ้ามาเฉือนโชว์กันจะ ๆ ไปเลย

นั่นเป็นเพราะการพิสูจน์ให้ดู มันมีพลังงานมากกว่าคำพูดลอย ๆ และการแสดงออกเป็นภาพยังทำให้คนจำได้ง่ายเสียงหรือตัวอักษร โดยเปรียบเทียบคุณสมบัติของสินค้านั้น กับสิ่งที่ลูกค้าคุ้นเคย เพื่อให้เห็นภาพชัด ๆ

ตัวอย่างเช่น โต๊ะนี้แข็งแรงขนาดคนขึ้นไปยืนได้ 20 คน, ของชิ้นนี้โดนรถเหยียบยังไม่เป็นไร, แจกของแถมเยอะมาก จนถุงใหญ่เท่ากระสอบ, ร้านนี้ขายดีจนสลิปไปรษณีย์ยาว 3 เมตร

  1. จริงจังเรื่องความจริงใจ โปร่งใส พูดความจริง

“เสื้อตัวนี้สีตกนิดหน่อย ต้องแยกซักก่อนนะคะ”
พูดแบบนี้ ดีกว่าปล่อยให้ลูกค้าซื้อไป ทำสีตกใส่เสื้อผ้าเสียหาย แล้วไปโพสต์ด่าเราบนโซเชียลทีหลัง

ถ้าคุณตอบคำถามลูกค้าอย่างจริงใจ บอกจุดแข็ง-จุดอ่อนของสินค้าอย่างเปิดเผย พร้อมแนะนำวิธีแก้ปัญหาคร่าว ๆ เขาอาจจะซื้อหรือไม่ซื้อ แต่ที่แน่ ๆ คือคุณไม่เสียยี่ห้อ ไม่โดนจดจำในฐานะแม่ค้าจอมหมกเม็ด แถมสมัยนี้โซเชียลมันไปไวมาก ฉะนั้นอย่าโกหก หรือจงใจพูดความจริงไม่ครบ เพราะนั่นเท่ากับทุบหม้อข้าวตัวเอง

  1. บอกให้ลูกค้ารู้ ว่าชีวิตเขาจะดีขึ้นแค่ไหน

เชื่อมโยงข้อดีของสินค้า เข้ากับชีวิตของลูกค้า บอกให้เขารู้ว่าของ ๆ เราไม่ใช่แค่ดีแล้วจบ แต่มันทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นได้จริง ๆ ตัวอย่างเช่น

“ใส่สูทแบรนด์นี้แล้วหุ่นสวย สวยจนคุณออกไปทำงานได้อย่างมั่นใจ นำไปสู่การเป็น Working Woman ที่ประสบความสำเร็จ”

“เครื่องดูดฝุ่นเครื่องนี้ดูดได้สะอาดรวดเร็วมาก คุณจึงเหลือเวลาไปทำในสิ่งที่คุณรัก”

  1. วางตลาดให้ถูกที่ อย่าเอาน้ำแข็งไปขายที่ขั้วโลก

เอาน้ำแข็งไปขายที่ขั้วโลก เอาฮีทเตอร์มาขายเมืองไทย สงสัยจะยากแน่

คุณต้องรู้ว่าใครคือคนที่ได้ประโยชน์จากสินค้าหรือบริการของคุณ แล้วทุ่มเทกับกลุ่มนั้นเป็นหลัก อย่าหว่านแห ไม่งั้นถึงคุณสมบัติมันจะเลิศแค่ไหน ราคาถูกยังไง คนฟังก็คงแค่พยักหน้าแล้วก็จากไป เสียเวลาทั้งสองฝ่าย ในเมื่อมันไม่ใช่ของที่แก้ปัญหาชีวิตเขาได้ตั้งแต่แรกแล้ว

  1. ให้เกียรติลูกค้าทุกคน รวมถึงคนที่ยังไม่ได้ซื้อ

“พูดดี ยิ้มแย้ม ตอบไว ใส่ใจบริการ” เทคนิคเก่า ๆ ใครก็รู้
แต่เอาเข้าจริงหลายคนกลับทำไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่รู้นั่นแหละ…

บางคนพูดดีกับลูกค้าประจำเท่านั้น แบบนี้ก็ปิดโอกาสที่จะได้ลูกค้าใหม่
บางคนทำดีกับคนที่ดูมีเงิน แต่หมางเมินคนแต่งตัวปอน ๆ โดยไม่รู้ว่าคน ๆ นั้นถือเงินมา เตรียมจะซื้ออยู่แล้ว
บางคนพูดดีกับคนที่ทำท่าสนใจ พอเขาไม่ซื้อ ก็ชักสีหน้าใส่แทนซะอย่างนั้น

ข้อนี้คงไม่มีเคล็ดลับอะไรมาก ขอให้คิดแค่ว่า “ถ้าเราเป็นลูกค้า เราอยากซื้อของกับคนแบบไหน แล้วจงทำตัวเป็นแม่ค้าแบบนั้น”

  1. กล้าที่จะให้เวลาลูกค้าในการตัดสินใจ

ของบางอย่างลูกค้าอาจต้องการเวลาคิด หรือเปรียบเทียบก่อนซื้อ ในฐานะคนขายควรแสดงความใจกว้าง ให้เวลาลูกค้าได้ตัดสินใจ และให้ข้อมูลที่เพียงพอ อย่าเร่งรัดจนอีกฝ่ายรู้สึกอึดอัด

หลังจากเวลาผ่านไปสักพัก ถ้าลูกค้ายังเงียบอยู่ ก็อาจจะทักไปถามว่ายังสนใจอยู่หรือไม่ ติดปัญหาอะไรรึเปล่า มีอะไรที่เราจะช่วยได้บ้าง

  1. รับฟังความเห็นหน่อย อย่าหลงรักสินค้าหัวปักหัวปำ

เจ้าของแบรนด์บางคน หลงรักสินค้าของตัวเองสุดหัวใจ ชนิดที่ว่าใครมาวิจารณ์ต้องโดนโกรธทุกที แบบนี้เท่ากับปิดโอกาสพัฒนาไปเรียบร้อยแล้ว

เปลี่ยนซะใหม่ครับ รับฟังลูกค้าด้วยใจเป็นกลาง ใจร่ม ๆ เข้าใจ อะไรไม่ดีจะได้เอาไปปรับปรุง ลองรักลูกค้าดูบ้าง อย่ารักแต่สินค้า

  1. เรียนรู้จากคนที่ปฏิเสธคุณ

คนขายของ โดนปฏิเสธเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องไม่ลืมสังเกตด้วยว่าคนที่ปฏิเสธนั้นมีเหตุผลอะไร ถูกปฏิเสธบ่อยแค่ไหน คนกลุ่มไหนที่มักปฏิเสธ เก็บข้อมูลไว้ครับ ถ้าเราตั้งใจฟังมากพอ จับแพทเทิร์นได้ เราอาจจะเจอจุดอ่อนที่เราคิดไม่ถึง

  1. อย่าหยุดพัฒนา เพราะสินค้าที่สมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง

อย่าพอใจกับสิ่งที่มีนานเกินไป ถึงตอนนี้ของคุณจะขายดี ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะดีกว่านี้ไม่ได้ และไม่ได้แปลว่าอนาคตมันจะดีไปตลอด

ทำธุรกิจ ต้องมองหาลู่ทางพัฒนาตลอดเวลา ถามตัวเองซ้ำ ๆ ว่า “เราจะทำให้ดีขึ้นได้ยังไง” ไม่ว่าจะเป็นระดับสร้างสินค้าใหม่ แพ็กเกจใหม่ หรือแค่ก้าวเล็ก ๆ อย่างการเปลี่ยนคำพูดที่ใช้กับลูกค้า ถ้าทำตลอดไม่หยุด หมกมุ่นกับการพัฒนาเข้าไว้ ธุรกิจของคุณจะสดใหม่เสมอในสายตาลูกค้า คู่แข่งที่ไหนก็แซงไม่ไหวหรอกครับ