20 ทักษะที่เถ้าแก่ต้องมี ถ้าไม่อยากโดน Disrupt ในปี 2563

20 ทักษะที่เถ้าแก่ต้องมี ถ้าไม่อยากโดน Disrupt ในปี 2563

สู้กับคนว่ายากแล้ว สู้กับเทคโนโลยียิ่งยากกว่า ในปี 2563 ที่จะถึงนี้ ผู้ประกอบการอาจต้องสู้กับทั้งคู่แข่งและกับเทคโนโลยีไปพร้อมกัน ความท้าทายมากขึ้น ทักษะและความรู้เดิม ๆ อาจไม่พออีกแล้ว วันนี้ Power SME Thai จะมาแนะนำ 20 ทักษะที่เจ้าของธุรกิจควรฝึกฝนไว้ เพื่อให้พร้อมสู้ศึก Disruption ในปี 2563 ครับ

Hard Skills (ทักษะทางด้านเทคนิค ทักษะเฉพาะทาง)

  1. การใช้สื่อดิจิทัลหลายแพลตฟอร์ม

เพื่อเพิ่มช่องทางในการโปรโมตธุรกิจ และเข้าถึงลูกค้าใหม่ ๆ ได้ตรงกลุ่มกว่าเดิม เช่น Facebook, Instagram, YouTube, Shopee, Lazada, Alibaba, Pinterest, LinkedIn, Line รวมถึงแพลตฟอร์มที่นิยมในต่างชาติอย่าง WeChat หรือ Tiktok ในกรณีที่อยากขยายตลาดไปต่างชาติ

2. การออกแบบ UX/UI

เพื่อทำความเข้าใจและสามารถออกแบบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภคได้ เช่น การทำหน้าเว็บไซต์ให้เนื้อหาตอบโจทย์ ค้นหาสินค้าง่าย คลิกซื้อสะดวก การออกแบบเล่มเมนูอาหารให้ดูง่าย ไปจนถึงการออกแบบหน้าร้านให้ดูสวยและสะดวกกับลูกค้ามากที่สุด

3. การใช้ Cloud Computing

การเก็บและประมวลข้อมูลบน Cloud จะช่วยให้ธุรกิจมีความคล่องตัว ประหยัดค่าฮาร์ดแวร์ คุ้มค่ามากขึ้นสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ต้องการลงทุนเซิร์ฟเวอร์ ผู้ประกอบการควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งาน Cloud Computing มากพอที่จะตัดสินใจได้ว่าควรใช้ Cloud กับส่วนไหนในธุรกิจตัวเองบ้าง

4. การทำ SEO และ SEM

SEO (Search Engine Optimization) และ SEM (Search Engine Marketing) คือเทคนิคที่ทำให้หน้าเว็บไซต์ของเราปรากฏขึ้นอันดับต้น ๆ ในหน้าผลเสิร์ชของ Google ช่วยเพิ่มโอกาสสร้างยอดขายได้อีกเยอะ\

5. การทำ Content Marketing

เป็นเทคนิคการตลาดที่สำคัญมากในยุคออนไลน์ ว่าด้วยการทำ Content ที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายสนใจ ใช้ Content ดึงคนเหล่านั้นเข้ามา แล้วค่อยเชื่อมโยงเสนอขายสินค้าหรือบริการ

6. การใช้ e-Tax Invoice

e-Tax คือระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & Receipt) ที่กรมสรรพากรได้พัฒนาขึ้นมาแทนการออกใบรับ/ใบกำกับภาษีแบบกระดาษ ลดภาระต้นทุนและเพิ่มศักยภาพการทำงานให้ผู้ประกอบการ โดยสามารถส่งใบกำกับภาษีให้กับลูกค้า และส่งหลักฐานต่าง ๆ ให้สรรพากรได้ทางออนไลน์ทั้งหมด ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 เจ้าของธุรกิจควรทำความเข้าใจ เพื่อสามารถเอามาใช้กับธุรกิจของตัวเองได้ในปีหน้า

7. การใช้ Artificial Intelligence

เช่น การใช้แชทบอทตอบลูกค้า การใช้ซอฟต์แวร์ประมวลผลข้อมูล ใช้โปรแกรมช่วยวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์ตลาด และช่วยตัดสินใจ ทำงานได้เร็วกว่าใช้คน

8. การทำงานบน Mobile Devices

เทคโนโลยีช่วยให้เราทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา เพียงมีอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเท่านั้น ดังนั้นเราควรมีทักษะการใช้งานมือถือหรือแท็บเล็ตที่มากพอจะใช้ทำงานอย่างจริงจังได้ เช่น การใช้แอปพลิเคชั่น Project Management ผ่านมือถือ การตัดต่อวิดีโอด้วยมือถือ เป็นต้น

9. การตัดสินใจด้วย Data

สมัยนี้ใครมี Data มากก็ยิ่งได้เปรียบ แต่จะให้ดีที่สุดคือต้องรู้จักเอา Data นั้นมาใช้ คนทำธุรกิจต้องรู้ว่า Data ไหนที่เป็นประโยชน์ วิเคราะห์เป็น ตีความได้ นำเสนอได้ และสามารถเอา Data นั้นมาสร้างเป็นแผนกลยุทธ์

10. กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ผ่านการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียบร้อยแล้ว จะบังคับใช้อย่างจริงจังตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งห้ามมิให้ธุรกิจหรือองค์กรใด ๆ เก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าตัว และต้องระบุอย่างชัดเจนให้เจ้าของข้อมูลรับทราบก่อนว่าจะนำข้อมูลไปทำอะไรบ้าง หากมีการเก็บข้อมูลด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง หรือเอาข้อมูลไปใช้ผิดจากวัตถุประสงค์ อาจต้องเจอโทษปรับหลักล้าน ธุรกิจรายไหนอยากเก็บข้อมูลลูกค้าไปต่อยอดการตลาด จำเป็นต้องศึกษาและทำให้ถูกต้อง

Soft Skills (ทักษะด้านอารมณ์ การใช้ชีวิต การเข้าสังคม) 

11. การเล่าเรื่อง

สกิลการเล่าเรื่อง (Storytelling) จะมีประโยชน์มากในการทำการตลาดยุคนี้ โดยเฉพาะเมื่อประกอบกับความรู้เรื่อง Content Marketing คนทำธุรกิจควรรู้ว่าจะเล่าเรื่องสินค้าหรือบริการตัวเองอย่างไรให้น่าซื้อ อะไรคือจุดแข็งที่ลูกค้าน่าจะสนใจมากที่สุด จะเล่าอย่างไรให้จุดแข็งข้อนั้นโดดเด่น อะไรคือจุดอ่อนที่ลูกค้า Concern และจะเล่าอย่างไรให้ลูกค้าพร้อมเปิดใจ อาจทำให้รูปแบบภาพ บทความ หรือวิดีโอก็ได้ ให้เหมาะกับสิ่งที่ต้องการสื่อสาร กลุ่มลูกค้า และแพลตฟอร์มที่จะเผยแพร่

12. การทำงานกับคนหลายเจน

คนวัยต่างกัน ก็อาจมีแนวคิดการทำงานที่ต่างกัน ความท้าทายอยู่ที่เราจะทำงานร่วมกันให้สำเร็จแม้จะคิดต่างกันได้หรือไม่ นายจ้างยุคนี้จำเป็นต้องมีสกิลการบริหารคนหลาย Generation ให้อยู่ด้วยกันได้โดยไม่มีผ่ายไหนรู้สึกอึดอัดหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

13. การมี Digital Mindset

เมื่อเราอยู่ในยุคดิจิทัล ก็ควรมีแนวคิดที่เข้ากับยุคดิจิทัล เช่น การรู้จักเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ในธุรกิจ การแก้ปัญหาด้วย Modern Solutions ไปจนถึงอุปนิสัยคิดเร็ว ทำเร็ว ปรับตัวรวดเร็ว ถึงจะเอาตัวรอดในยุคดิจิทัลได้

14. ความเข้าใจสังคมออนไลน์

ถ้าเข้าใจคนในโลกออนไลน์ ก็สามารถเปลี่ยนคนแปลกหน้ามาเป็นลูกค้าได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจ อาจกลายเป็นได้ศัตรูมาแทน เจ้าของธุรกิจควรรู้จักสังเกตพฤติกรรมและเทรนด์สังคมออนไลน์ ว่าชอบหรือไม่ชอบ Content แบบไหน เพื่อจะได้วางตัวแบรนด์และได้ถูก รวมถึงสามารถรับมือวิกฤตได้เมื่อเกิดกระแสต่อต้าน

15. การให้บริการเหนือความคาดหมาย

อันนี้ก็ไม่เชิงว่าเป็นทักษะใหม่ แต่เป็นอะไรที่ควรตอกย้ำอยู่เสมอ ว่าการบริการลูกค้าที่ดีจริงนั้นจะแค่ดีเท่าความคาดหมายไม่ได้ แต่ต้องดีเกินความคาดหมาย สร้างความประทับใจที่พิเศษให้กับลูกค้า เพื่อจะได้กลับมาอุดหนุนซ้ำ และแนะนำให้คนอื่นมาเป็นลูกค้าด้วย ยิ่งในยุคนี้มีสื่อดิจิทัลที่ทำให้สื่อสารกับลูกค้าได้ง่ายขึ้น การบริการสามารถทำได้โดยไม่ต้องรอให้ลูกค้ามาถึงหน้าร้าน

16. การสร้างคอนเนคชั่น

คอนเนคชั่นที่ดีจะเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ คนทำธุรกิจควรหมั่นหาเวลาไปเข้าสังคมเพื่อหาคอนเนคชั่นคุณภาพ เช่น ไปร่วมงานสัมมนา เข้าคอร์สเรียนระยะสั้น ออกบูธ ฯลฯ พร้อมกับมีวิธีนำเสนอตัวเองให้น่าจดจำ

17. การสร้างแรงบันดาลใจ

มีเทคนิคในการพูดสร้างแรงบันดาลใจ ให้กำลังเพื่อนร่วมทีมเมื่อทำผิดพลาด สนับสนุนให้ทุกคนมีความภูมิใจในทีม ผลักดันให้พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และยึดเป้าหมายขององค์กรร่วมกัน

18. การปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง

รู้จักสังเกตสัญญาณความเปลี่ยนแปลงรอบตัว ติดตามข่าวสาร เกาะติดเทรนด์ เล็งเห็นได้ว่าสิ่งไหนจะเป็นอุปสรรคหรือโอกาสของธุรกิจ และสามารถลงมือทำอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมืออุปสรรคหรือคว้าโอกาสนั้นเอาไว้ได้ทันเวลา

19. การเรียนรู้ตลอดชีวิต

ต่อจากข้อข้างบน การจะปรับตัวได้เร็ว จำเป็นต้องมีความรู้กว้างขวาง ไม่ตกยุค ผู้ประกอบการควรมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) คือขวนขวายหาความรู้ตลอดเวลา ในสารพัดแขนง เช่น การเข้าอบรม การสังเกตจากสิ่งรอบตัว พูดคุยกับคนอื่น การลองผิดลองถูก การอ่านหนังสือ ไปจนถึงค้นคว้าในสื่อออนไลน์

20. จิตสำนึกเพื่อสังคม

คนสมัยนี้ก่อนจะตัดสินใจซื้อสินค้า มักจะมีเรื่องจุดยืนทางสังคมเข้ามาเกี่ยวด้วย เช่นการตั้งคำถามว่าแบรนด์นี้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมหรือไม่ มีการเอาเปรียบแรงงานหรือไม่ มีการแสดงออกสนับสนุนความไม่เท่าเทียมทางสังคมหรือไม่ ฉะนั้นเจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องมีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม และรู้จักนำเสนอออกมาในรูปแบบตัวตนของแบรนด์

อ่านดูแล้ว ใครยังขาดข้อไหนอยู่ ได้เวลาอัพสกิลกันด่วน ๆ แล้วนะครับ ส่วนใครที่มีครบแล้ว ก็ขอให้พัฒนาทักษะเหล่านั้นให้เลเวลสูงยิ่งขึ้นไปอีก รับรองว่าปีหน้าจะเป็นปีที่สนุกแน่นอนครับ