เสริมอาวุธกับ 4 กลยุทธ์ ปรับกระบวนทัพ HR 4.0

HR หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลนับเป็นแม่ทัพเงาขององค์กรก็ว่าได้ เพราะต้องเก่งทั้งบุ๋นและบู๊เสมือนเป็นหน้าด่านสำคัญในการสรรหาบุคลากรเข้าสู่องค์กร ดูแลสวัสดิการ ผลประโยชน์ ความก้าวหน้าของพนักงานทุกระดับ และหน้าที่อันสำคัญ คือ การพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมศักยภาพบุคลากรให้แข็งแกร่งพร้อมขับเคลื่อนองค์กรในปัจจุบันและอนาคต

ประกอบกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และคนกลุ่มใหญ่ที่เป็นกำลังหลักของคนวัยทำงานก็กำลังเปลี่ยนแปลงสู่กลุ่ม Millennials ดังนั้น HR เองจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค 4.0 ให้ทันท่วงที ปรับกลยุทธ์ในการทำงาน ต้องเสริมศักยภาพใหม่ เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และสร้างกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดใจคนกลุ่มใหม่ ๆ เข้าสู่องค์กร และที่สำคัญ HR ต้องเข้าใจสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป เพราะเมื่อเข้าใจเหตุผลที่มาที่ไปว่าทำไมถึงต้องเปลี่ยนแปลง การปรับตัวก็จะเป็นไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท SEAC วิเคราะห์และสรุปออกมาได้เป็น 4 ทักษะที่จะช่วยให้ HR สามารถก้าวกระโดด และติดสปีดในการทำงานในยุคนี้ ได้แก่

  1. Business Acumen : HR ยุคใหม่ต้องมีปฏิภาณทางธุรกิจ ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ด้านการดำเนินธุรกิจขององค์กร และต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งความเป็นเลิศของ HR ยุคใหม่นี้ ต้องอ่านเกมทั้งในเรื่องบุคลากรและวัตถุประสงค์ขององค์กรได้อย่างชัดเจน เพราะในทุกวันนี้เศรษฐกิจมีความเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว กลุ่มลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมและความสนใจตลอดเวลา องค์กรต้องทำงานด้วยอาศัยความเร็ว ซึ่งนับเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้บุคลากรในองค์กรต้องเสริมทักษะ สร้างความหลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยนและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ นั่นแปลว่า HR ต้องปรับเปลี่ยนในเรื่องวัฒนธรรมการเรียนรู้ นอกจากนี้ HR ก็ต้องสามารถปรับเปลี่ยนการคัดสรรคอร์สการเรียนรู้เพื่อเสริมบุคลากรให้แข็งแกร่งให้เหมาะสมกับเงื่อนไขทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปนี้ได้อย่างทันท่วงที
  2. HR Technology and Data Analytics : HR ยุคใหม่ ต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีให้ทันยุคเพื่อแสวงหาความต้องการของบุคลากร ต้องอ่านข้อมูลและแปลความหมายได้อย่างถูกต้องและครบสมบูรณ์ คือ ปัจจุบันการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อค้นหาและเข้าถึงข้อมูลเฉพาะบนโลกออนไลน์ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งกับทุกแง่ทุกมุมของการใช้ชีวิต ในภาพขององค์กรเอง HR ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นคลังค้นหาข้อมูลที่อัดแน่นด้วยข้อมูลหลากหลายมิติ ต้องทำงานจากข้อมูลจริงของทั้งพนักงานและสถานการณ์แวดล้อม เพื่อเข้าถึงความต้องการของบุคลากรในองค์กร หรือจัดข้อมูลเพื่อให้ทีมผู้บริหารแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งตรงนี้จะต่างจากสมัยก่อน ยุคก่อนที่นิยมทำงานจากความรู้สึกมากกว่า รวมทั้ง HR ต้องใช้ประโยชน์จากเครื่องมือใหม่ ๆ ที่พัฒนามาจากเทคโนโลยีล้ำสมัยนี้กับเรื่องการจ้างงาน เพื่อให้ช่วยจ้างคนที่ใช่ อีกทั้งยังสามารถทำให้บุคลากรสนุกกับการตอบคำถาม หรือง่ายต่อการเก็บข้อมูล สร้างความผูกพันกับองค์กร (Employee Engagement) อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญที่สุดในเรื่อง HR Technology คือองค์กรไม่สามารถจะลงทุนแค่กับเรื่องเทคโนโลยี แต่ต้องพัฒนาทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลให้กับ HR ด้วย จากการวิจัยระบุว่ามีองค์กรทั่วโลกกว่า 53% ที่ลงทุนในเรื่องซอฟต์แวร์ด้าน HR (HR Software) ซึ่งถือเป็นการลงทุนเม็ดเงินจำนวนมาก องค์กรจึงคาดหวังให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก HR Software นี้อย่างเต็มประสิทธิภาพแต่ปัญหาที่เกิดก็คือบางครั้งผู้บริหารก็อาจลืมไปว่ากลุ่ม HR ที่ต้องทำหน้าที่อ่านหรือประมวลผลจาก HR Software เหล่านี้ยังมีความสามารถไม่เพียงพอก็เป็นได้ ดังนั้นเราต้องหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่ม HR ในการพัฒนาทักษะด้าน HR Analytics อีกด้วย
  3. Marketing Expertise HR : ยุคใหม่ ต้องขายของให้เป็น กล่าวคือ HR ต้องเข้าใจสถานการณ์และความต้องการขององค์กรเพื่อที่จะคัดสรรและปรับเปลี่ยนรูปแบบการคัดสรรบุคลากรที่จะเข้าร่วมงานกับองค์กรได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ HR ต้องดูแลพนักงาน สื่อสารกับพนักงานเปรียบเสมือนลูกค้า ใช้ความรู้ความสามารถในการนำเทคนิคด้าน Marketing ในการดึงดูดลูกค้ามาใช้กับพนักงาน คือต้องเข้าใจ เป็นมิตร ใกล้ชิด เพื่อจะได้ศึกษารับรู้พฤติกรรม ความต้องการ และสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานในการขับเคลื่อนองค์กรตั้งแต่วันแรกของการทำงานของพวกเขาไปจนวันสุดท้ายของการทำงาน ยกตัวอย่างคือ เดี๋ยวนี้เรามีทั้ง Ted Talk หรือสื่อใหม่ ๆ มากมาย เราได้เรียนรู้ว่าการสื่อสารต้องไม่เกิน 8 นาที การสื่อสารเปลี่ยนภาพไปทั้งหมดจากอดีต นั่นแปลว่า หาก HR ยังสื่อสารกับคนในองค์กรเหมือนเดิม มีการให้คนเข้าไปนั่งฟังเหมือนเดิม นอกจากไม่เกิด Engagement ยังนำไปสู่ผลเชิงลบ บางองค์กรพบว่าแม้เราจะพยายามสื่อไปแล้วแต่ก็ไม่ได้ผล แม้จะพยายามเปลี่ยนไปใช้รูปแบบใหม่ ๆ นั่นเพราะเรายังใช้กลไกแบบเดิมบนโลกที่เปลี่ยนไป คนตื่นเต้นกับ Infrastructure ของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป แต่ศักยภาพของคนที่จะทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีหรือ Platform เหล่านั้น และสามารถประยุกต์ใช้ในการบริหารองค์กรยังน้อยอยู่ HR จึงต้องเร่งปรับตัวตรงนี้
  4. HR Agility HR : ยุคใหม่ ต้องพร้อมปรับตัว และสร้างความคล่องตัวให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจที่เคลื่อนไหวรุนแรงและรวดเร็ว นับเป็นความท้าทายครั้งสำคัญสำหรับทุกองค์กร HR ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการเพิ่มทักษะใหม่ ๆ ในการทำงานหรือสามารถทำงานมากกว่าที่ตนเองรับผิดชอบได้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับบุคลากรคนอื่น ๆ เกิดการเรียนรู้และเสริมทักษะใหม่ ๆ ให้ได้มากที่สุด เพราะทุกวันนี้ต้องมองว่าคู่แข่งไม่ได้มาจากเพียงแค่ธุรกิจแบบเดียวกัน แต่ยังมีคู่แข่งจากกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ มาเป็นตัวแปรสำคัญ อาทิ กลุ่มอาหารและบริการ ทุกวันนี้ไม่ใช่เพียงเปิดร้านอาหารหรือภัตตาคารอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นคู่แข่งกันละกัน ยังมีคู่แข่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาด อาทิ สตรีทฟู้ด (Street Food) หรือแม้แต่กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ที่หันมาทำธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) เป็นต้น

สรุปคือพูดง่าย ๆ HR ต้องมีความยืดหยุ่นในการทำงาน ต้องคล่องตัวพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนทั้งในเรื่อง Mindset หรือวิธีการคิด วิธีการทำงาน เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานในยุค 4.0 นี้