7 ปัญหาเรื่อง “เงินเดือน” ที่นายจ้างมักพลาด ทำธุรกิจพัง

7 ปัญหาเรื่อง “เงินเดือน” ที่นายจ้างมักพลาด ทำธุรกิจพัง

“เงินเดือน” เรื่องที่เถ้าแก่มักมองว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับลูกจ้างแล้วมันคือเรื่องใหญ่ อย่าปล่อยให้ความไม่สมดุลตรงนี้มาทำให้ธุรกิจของคุณต้องพัง ตราบใดที่กิจการยังดำเนินไปด้วยตัวคน ๆ เดียวไม่ได้ และนี่คือ 7 ปัญหายอดฮิตเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของลูกจ้าง ที่เจ้าของธุรกิจมักมองข้ามไป อาจสร้างความร้าวฉานจากภายในได้ไม่น้อยเลย!

1.โครงสร้างเงินเดือนไม่อัพเดต

โครงสร้างเงินเดือนไม่อัพเดตตามเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพ ผ่านไป 10-20 ปีก็ใช้ฐานเงินเดือนเท่าเดิม ทำให้เงินเดือนน้อยเมื่อเทียบกับราคาตลาด พนักงานยิ่งอยู่นานยิ่งอยากลาออก

2.ปรับเงินเดือนตามอายุงานมากกว่าฝีมือ

ขึ้นเงินเดือนตามอายุงาน ไม่ใช่ตามฝีมือ คนทำงานไม่ดีแต่อยู่นานก็จะได้ปรับขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนพนักงานใหม่ไฟแรงจะค่อย ๆ จากไป สุดท้ายอาจเหลือแต่พนักงานกลุ่มอดทน แต่ไม่เหลือคนเก่งไว้เลย

3.ใช้ระบบเด็กเส้น เด็กฝาก

ใช้ระบบเด็กเส้น เด็กฝาก จ่ายเงินเดือนแพง ๆ ให้คนที่ไม่สมควรได้ ทำให้พนักงานคนอื่นเสียศรัทธาและหมดกำลังใจในการทำงานได้ง่าย ๆ

4.เน้นบวกสวัสดิการแทนการขึ้นเงินเดือน

บางองค์กรเงินเดือนไม่ขึ้น หรือขึ้นน้อย เน้นบวกแต่สวัสดิการ ถึงมูลค่าโดยรวมจะสูง แต่การตอบแทนด้วยเงินเดือนยังไงก็น่าชื่นใจกว่า มีอิสระกว่าเยอะ

5.ขึ้นเงินเดือนให้แต่หักสวัสดิการ

ตรงข้ามกับข้อข้างบน บางองค์กรพอปรับเลื่อนตำแหน่ง ก็ปรับขึ้นเงินเดือนให้ แต่กลับหักสวัสดิการออก ทำให้ยิ่งตำแหน่งสูง เงินเดือนสูง สวัสดิการก็ยิ่งน้อย เงินโอทีไม่ได้ เบี้ยเลี้ยงไม่มีให้ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เคยมีอุดหนุนก็ต้องออกเอง ทำให้คนไม่อยากขึ้นเป็นหัวหน้า เพราะรู้สึกว่าเงินเดือนที่เพิ่มให้ไม่ใช่การเพิ่มผลตอบแทนอย่างแท้จริง

6.ก๊อปปี้เงินเดือนบริษัทอื่น

จ่ายเงินเดือนลอกเลียนบริษัทอื่นโดยไม่วัดที่เนื้องาน ถึงแม้จะชื่อตำแหน่งเดียวกันเป๊ะ ๆ แต่ความรับผิดชอบแต่ละที่ไม่เท่ากันอยู่แล้ว ฉะนั้นการลอกฐานเงินเดือนคนอื่นมาอาจจะไม่เวิร์ก

7.เจ้าของไม่ตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง

ข้อมี้มักเกิดกับธุรกิจ SME เจ้าเล็ก ๆ ที่เจ้าของธุรกิจไม่ตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง ใช้เงินส่วนตัวกับเงินของกิจการปะปนกัน กลายเป็นต้นทุนที่ไม่ย้อนกลับมาเป็นยอดขาย และยังคาดการณ์ได้ยาก หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดปัญหากับกระแสเงินสด ทางที่ดีเจ้าของควรตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง (อย่างสมเหตุสมผล!) ลงบัญชีเป็นต้นทุนค่าแรงของกิจการ แล้วจะใช้จ่ายอะไรก็ใช้เงินเดือนที่ได้ถึงจะถูกต้อง

ถ้าบทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณ คุณสามารถติดตามคอนเทนต์ดี ๆ เพื่อคนทำธุรกิจแบบนี้ได้ทุกวันโดยการกด Like เพจ ศูนย์นวัตกรรมทางเทคโนโลยี” (Power SME Thai) [https://www.facebook.com/powersmethai/] จัดเต็มเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ เรื่องราวแรงบันดาลใจ และบทวิเคราะห์ดี ๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อเจ้าของธุรกิจโดยเฉพาะ