Brownout : ภาวะป่วยใจของลูกจ้างที่น่ากลัวยิ่งกว่า Burnout

Brownout : ภาวะป่วยใจของลูกจ้างที่น่ากลัวยิ่งกว่า Burnout

เดี๋ยวนี้เราได้ยินคนพูดถึงอาการ Burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงานอยู่บ่อย ๆ แต่รู้ไหมครับว่าที่น่ากลัวยิ่งกว่าและไม่ค่อยมีคนพูดถึง คือภาวะ “Brownout” หรืออาการ “หมดใจกับองค์กร” เพราะนอกจากจะทำร้ายตัวพนักงานเอง ยังกระทบถึงขวัญกำลังใจเพื่อนร่วมงาน และกัดกินองค์กรจากข้างในจนพรุน

ภาวะ Brownout เป็นอาการที่พนักงานรู้สึกหมดรักองค์กร แม้ใจจะยังชอบในเนื้องานอยู่ แต่กลับทุกข์ทรมานกับสภาพแวดล้อม ผู้คน หรือเงื่อนไขในองค์กรนั้น ๆ จนเหนื่อยใจ หมดความภักดี หมดความผูกพัน ไม่อยากจะทุ่มเท ไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของทีมอีกต่อไป ถึงเงินเดือนดีก็ไม่ช่วยอะไร และมักจบลงด้วยการยื่นใบลาออก

จะว่าไปก็คล้ายกับคู่รักที่บอกเลิกกันเพราะหมดความอดทนกับข้อเสียของอีกฝ่ายนั่นแหละครับ บางอย่างดูเป็นปัญหาเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่พอต้องมาเจอทุกวัน สะสมนานเข้า ก็กลายเป็นเบื่อหน่าย หมดรัก หมด Passion จนต้องโบกมือลานั่นเอง

ถึงจุดนี้ นายจ้างบางคนอาจคิดว่า “เรื่องมากนัก ไอ้นั่นก็ไม่ดี ไอ้นี่ก็ไม่ดี ในเมื่อไม่รักบริษัท ลาออกไปซะก็ดีแล้ว!” แต่ความจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้นครับ การจากไปของคน Brownout เป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะต้นเหตุหลักของปัญหานั้นหยั่งรากอยู่ในตัวองค์กร ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ Brownout ต่างจาก Burnout เพราะ Burnout มักเกิดจากปัจจัยในตัวบุคคล แต่ในเคสของ Brownout ถ้าองค์กรไม่รีบแก้ไขที่ตัวเองก่อน ไม่นานคนที่เหลือก็จะติดเชื้อ Brownout ไปตาม ๆ กัน

แล้วองค์กรแบบไหนกัน ที่ทำให้คนหมดรัก?
สาเหตุที่ทำให้พนักงานในองค์กรเกิดอาการ Brownout มักเกิดจาก 5 ข้อดังนี้ครับ

1. ออกกฎระเบียบจุกจิกเกินความจำเป็น
มีกฎระเบียบมากมาย ที่มองไม่เห็นประโยชน์ ทำให้พนักงานอึดอัด รู้สึกโดนบังคับด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น บังคับแต่งตัวเป็นทางการในตำแหน่งงานที่การแต่งกายไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย ห้ามเข้าห้องน้ำเกินวันละ 10 นาที ห้ามกินขนมเวลางาน เป็นต้น

2. คนทำงานดีไม่มีรางวัล คนทำงานแย่ไม่มีการลงโทษ
ทำให้พนักงานไม่มีแรงจูงใจจะทุ่มเทอีกต่อไป ทำดีแค่พอผ่าน คนทำงานแย่ก็ทำต่อไปเรื่อย ๆ คุณภาพงานก็จะค่อย ๆ ลดลง

3. ทำงานกันแบบหุ่นยนต์
เจ้านายออกคำสั่ง ลูกน้องทำตาม ต่างคนต่างก้มหน้าทำงานตัวเอง ไม่มีการสื่อสารระหว่างกันหรือแลกเปลี่ยนความคิด นานวันเข้าพวกเขาก็จะรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นแค่เครื่องจักรตัวหนึ่งในองค์กรเท่านั้น ไม่มีความเป็นมนุษย์หรือความคิดสร้างสรรค์ใด ๆ

4. องค์กรไม่มีเป้าหมาย
ทำงานแบบไม่มี Goal ไม่มี Objective มีแต่ Deadline หรือไม่ได้สื่อสารให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าเราทำงานไปเพื่ออะไร นานวันเข้าพนักงานก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำไม่มีคุณค่า

5. ไม่เปิดโอกาสให้พนักงานเป็นตัวของตัวเอง
ปิดกั้นความแตกต่างระหว่างบุคคล ผลักดันให้ทุกคนคิดอ่านเหมือน ๆ กัน โดยเสียความเป็นตัวเองไป เรียกร้องให้ทุกคนเสียสละเพื่อทีมตลอดเวลา แต่กลับไม่ได้ใส่ใจจะตอบแทนพนักงานกลับไปอย่างเท่าเทียม ไม่ได้รับฟังว่าแต่ละคนต้องการอะไร อยากทำอะไร

ถ้าอ่านถึงตรงนี้ แล้วเริ่มหนาว ๆ ร้อน ๆ ว่าองค์กรเราอาจจะเข้าข่ายทำร้ายจิตใจพนักงานอยู่เหมือนกัน ไม่รู้ป่านนี้ลูกน้องเรา Brownout ไปถึงไหนแล้ว เราก็สามารถตรวจจับอาการ Brownout ของพวกเขาได้ง่าย ๆ ดังนี้ครับ

สัญญาณอาการ Brownout ของลูกจ้างที่นายจ้างควรสังเกต
● พนักงานรู้สึกกดดัน มีความกระตือรือร้นในการรับคำสั่งต่าง ๆ น้อยลง
● ปฏิเสธจะทำงานล่วงเวลา หรือช่วยงานในวันหยุด ทั้งที่แต่ก่อนเต็มใจ
● เริ่มมีอาการทางกาย ป่วยบ่อย โทรม เซื่องซึม เกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ
● มีความสนใจร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรน้อยลง ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ
● ไม่ค่อยเข้าสังคมกับเพื่อนร่วมงานเหมือนแต่ก่อน

ใครอ่านทั้งหมดนี้ แล้วรู้สึกว่า “มันใช่เลย” ขอแสดงความยินดีด้วยครับที่รู้ตัวเร็ว พรุ่งนี้วันจันทร์เปิดมาจะได้ปรับสภาพแวดล้อมองค์กรได้ทันท่วงที เร่งพ่นยาฆ่าเชื้อ Brownout โดยด่วน ก่อนที่พนักงานที่เคยรักคุณจะหมดใจจนบอกเลิกคุณไปนะครับ