จีนถือเป็น “รุ่นพี่” ในสนามต่อสู้โควิด-19 นวัตกรรมที่เคยอยู่ในขั้นทดลองถูกผลักดันไปใช้งานจริง ในสนามจริง เพื่อรับมือกับไวรัสเฉพาะกิจ เกิดเป็นสนามทดสอบเทคโนโลยีในระบบ 5G ที่อาณาเขตที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ก้าวยักษ์ใหญ่ของ Digitalization
ในประเทศจีน หลังจากเกิดการระบาดของไวรัส สิ่งที่ตามมาก็คือการระบาดของเทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในภาคสาธารณสุข ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา ไปจนถึงระดับประชาชน เรียกว่าเป็นการปรับตัวสู่การเป็นดิจิทัล (Digitalization) พร้อมกันครั้งใหญ่ที่สุดประวัติศาสตร์ก็ว่าได้
เทคโนโลยีคัดกรองคน
เริ่มจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Tencent กับ Alibaba ที่ออกมาเปิดตัวแพลตฟอร์มบริการสาธารณสุขแบบระยะไกล ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยคนไข้ทางออนไลน์ ลดความแออัดของการมาต่อคิวที่โรงพยาบาล และช่วยให้ตรวจคัดกรองคนได้มากขึ้น
ภาครัฐมีการใช้แอปพลิเคชั่นคัดกรองความเสี่ยง โดยให้ประชาชนติดตั้งแอปพิเศษในมือถือ แต่ละคนจะผ่านการประเมินความเสี่ยงในการติดเชื้อ และบันทึกระดับความเสี่ยงไว้ในฐานข้อมูลส่วนกลาง เมื่อสแกนโค้ดในแอปพลิเคชั่น ระดับความเสี่ยงก็จะแสดงขึ้นมาทันที ไว้ใช้ในจุดคัดกรองของพื้นที่สาธารณะและห้างร้านต่าง ๆ หากพบเป็นคนความเสี่ยงสูงที่ละเมิดการกักตัว ระบบจะส่งแจ้งเจ้าหน้าที่พร้อมบอกพิกัดคน ๆ นั้นทันที
เทคโยโลยีเพื่อการเรียนและทำงานระยะไกล
บุคลากรหลายล้านคนใช้เครื่องมือในการทำงานทางไกล เช่น DingTalk ของ Alibaba, WeChat ของ Tencent, Feishu ของ ByteDance, และ WeLink ของ Huawei นักเรียนนักศึกษากว่า 50 ล้านคนได้เข้าร่วมห้องเรียนออนไลน์ในระบบของ DingTalk และ Youku เปิดโอกาสให้ครูอาจารย์กว่า 600,000 คนได้สอนผ่านระบบไลฟ์สตรีม
เทคโนโลยีทางการแพทย์
โรงพยาบาลต่าง ๆ เข็นหุ่นยนต์ออกมาใช้กันอย่างเร่งด่วน เช่น หุ่นยนต์ส่งของตามห้อง หุ่นยนต์ส่งอุปกรณ์การแพทย์ ไปจนถึงหุ่นยนต์เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงและแบ่งเบาภาระให้เจ้าหน้าที่ และมีการใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการติดตามเงินและสิ่งของบริจาค เช่นหน้ากากอนามัยหรือเครื่องมือแพทย์
มีการนำโดรนมาใช้ในการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในบริเวณเสี่ยง นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งลำโพงไว้กับโดรนเพื่อส่งเสียงแจ้งเตือนให้ประชาชนดูแลตัวเอง รวมถึงติดตั้งกล้องตรวจจับความร้อนกับโดรนเพื่อตรวจอุณหภูมิร่างกายของประชาชน ตรวจจับผู้ป่วยต้องสงสัยได้รวดเร็ว
การลงสนามจริงของรถยนต์ไร้คนขับ
ธุรกิจมีการใช้รถยนต์ไร้คนขับขนาดเล็กในการส่งของและอาหารให้ผู้บริโภค ช่วยให้คนใช้ชีวิตสะดวกโดยไม่ต้องออกจากบ้าน แก้ปัญหาขาดแคลนพนักงาน Delivery รวมถึงหุ่นยนต์ไร้คนขับสำหรับคอยวิ่งพ่นยาฆ่าเชื้อในที่สาธารณะ
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตที่แข็งแกร่ง และมีส่วนอย่างมากให้วิกฤตโควิด-19 ในจีนทุเลาลงได้ในที่สุด จนตอนนี้ประชาชนเขาเริ่มกลับมาใช้ชีวิตกันเกือบจะเหมือนเดิมแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือนวัตกรรมที่ยังมีประโยชน์อย่างมากในช่วงเฝ้าระวังระยะยาว
อ่านถึงตรงนี้ จะบอกว่าประเทศไทยเราก็ไม่น้อยหน้าครับ มีการคิดค้นหุ่นยนต์สำหรับส่งอุปกรณ์ในโรงพยาบาล รวมถึงมีการใช้แอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ให้ประชาชนสามารถตรวจวินิจฉัยอาการของตัวเองได้ในเบื้องต้น และแจ้งเตือนผู้ใช้หากเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยงที่มีผู้ติดโควิด-19
หวังว่าพลังของเทคโนโลยี และความร่วมมือร่วมใจของคนไทย จะพาให้ไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้โดยเร็วเหมือนกันครับ