จาก COD – EOD ชอปง่าย จ่ายเพลิน

ในยุคของ E-Commerce เราสามารถค้าขายออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา ยิ่งเทคโนโลยรุดหน้าไปเร็วเท่าไหร่ กระบวนการซื้อขายสินค้าแบบออนไลน์ก็ยิ่งง่าย และสะดวก โดยเฉพาะขั้นตอนการชำระเงินที่เรียกได้ว่า ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม ใครสะดวกแบบไหน ก็จ่ายแบบนั้น ทั้งการโอนเงินผ่านตู้ ATM, Internet Banking ,บัตรเครดิต ,รวมไปถึงเก็บเงินปลายทาง Cash On Delivery (COD) เรียกว่าสะดวก และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ระบบการเก็บเงินปลายทาง หรือ COD เป็นช่องทางที่ผู้ซื้อสบายใจมากที่สุด เพราะเป็นการจ่ายเงินเมื่อสินค้ามาถึงมือแล้ว ต่างจากที่ช่องทางการชำระเงินอื่นๆ ที่โอนเงินให้กับผู้ขายก่อน นำมาซึ่งความกังวลว่าจะได้รับสินค้าจริงหรือไม่ ช่องทางการให้บริการเก็บเงินปลายทางหรือ COD ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และกล้าที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์ได้ง่ายขึ้นเพราะอย่างน้อยๆ ก็เห็นกล่องสินค้ามาถึงหน้าบ้านก่อนจ่ายเงิน ส่วนวิธีการให้บริการเก็บเงินปลายทาง มี 2 ช่องทาง คือ

  1. เก็บเงินปลายทางผ่านบริการส่งสินค้าของบริษัทไปรษณีย์ไทย วิธีนี้เหมาะกับผู้ขายประจำที่มีการส่งสินค้าทั่วประเทศ แต่ข้อเสียก็เยอะเช่นกันเพราะลูกค้าต้องเป็นฝ่ายไปรับสินค้าและชำระเงินที่ทำการไปรษณีย์ปลายทาง ส่วนผู้ขายก็ต้องไปรับเงินที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางอีกที วิธีทำให้เสียเวลาทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่
  2. ใช้บริการของบริษัทขนส่งสินค้าเอกชน ที่ปัจุบันผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด หลักๆก็จะมี Kerry Express, DHL eCom, Alfra Fast (เฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล), SCG  Express เป็นบริการเก็บเงินปลายทาง และส่งสินค้าถึงหน้าประตูบ้านลูกค้าที่นิยมใช้กันมากที่สุด สะดวกทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย เพราะสามารถจ่ายเงินหน้าบ้านได้เลย

แต่ระบบ COD ก็ยังมีข้อจำกัดและความไม่สะดวกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น พนักงานที่นำสินค้ามาส่งไม่ได้เตรียมเงินทอนมาให้พร้อม, ความยุ่งยากในการรับสินค้าหรือ การไม่ฝากค่าสินค้าไว้ ในกรณีให้ผู้อื่นรับแทน และที่สำคัญคือการยกเลิกสินค้าเมื่อสินค้ามาส่ง ทำให้ผู้ขายต้องเสียค่าส่ง ค่าธรรมเนียม ไปฟรีๆ ซึ่งคืนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

อีกสถานการณ์ที่น่าจับตามองก็คือ ความพยายามกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายด้วย e-Payment เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่สังคมเงินสดซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าการชำระเงินด้วยเงินสดนั้นมีต้นทุนในการจัดการที่สูงกว่าการจ่ายด้วย e-Payment ถึง 4 เท่าเลยทีเดียว

ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามส่งเสริมผู้ให้บริการ e-Commerce กระตุ้นให้ลูกค้าหันมาใช้วิธีการจ่ายเงินด้วย e-Payment (mobile/internet banking) ให้มากขึ้น โดยใช้กลยุทธ์ต่าง ๆเข้ามากระตุ้นให้มีการเติมเงินในวอลเล็ตและใช้จ่ายผ่านวอลเล็ตแทนเงินสด ผ่านแคมเปญต่าง ๆ เช่น ได้ Points หรือแต้มสะสมหรือคูปองรางวัล ,ส่วนลดต่าง ๆ หรือได้รับเงินคืนเมื่อเติมเงินเข้าไปในวอลเล็ต หรือแม้แต่เวลาต้องการคืนสินค้าก็จะได้รับการคืนเงินที่รวดเร็วกว่าเดิม

ในปีที่ผ่านมามีผู้ให้บริการหลายแพลตฟอร์มที่เปิดให้บริการด้าน E-Wallet & E-Payment แล้ว เช่น LAZADA  มี Lazada Wallet, Shopee มี AirPay, LINE มี Rabbit LINE Pay และที่คาดว่าจะเปิดแพลตฟร์อมนี้ตามมาติดๆก็คือ JD CENTRAL ในขณะที่ฝั่งธนาคารก็คึกคักไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างง่ายๆเช่นSCB เองก็มีโมบายล์แอปพลิเคชันคือ SCB Easy มารองรับการชำระเงินช่วยให้สะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้น

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และความสะดวกของแพลตฟอร์มชำระเงินแบบ Payment ทำให้ระบบการชำระเงินปลายทางถูกอัพเกรดขึ้นมาด้วย โดย COD จะถูกแทนที่ด้วยการจ่ายเงินแบบ EOD หรือ E-Payment On Delivery ซึ่งยังคงมีรูปแบบการขนส่งเหมือนกับการชำระเงินปลายทางที่คุ้นเคย แต่เปลี่ยนการชำระด้วยเงินสดเป็นการชำระผ่าน QR Code แทน และอาจพ่วงมาด้วยสิทธิประโยชน์มากขึ้นจากการจ่ายด้วยเงินสดแบบเดิม