ภาษี E-Commerce เรื่องปวดหัวที่ผู้ประกอบการต้องใส่ใจ

ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ E-Commerce อาทิ พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง (การตลาดแบบตรง หมายถึง กิจกรรมใดๆ ก็ตามที่มีการเชิญชวนให้เกิดการซื้อขายสินค้าและบริการ และมีการบอกวิธีการชำระเงินให้กับผู้ซื้อทราบ เช่น Catalog, E-Commerce,TV Home Shopping) พ.ศ.2545 ซึ่งผู้ประกอบการ E-Commerce จะต้องทำการจดทะเบียนกับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ถ้าไม่มาจดทะเบียนก็จะมีโทษปรับสูงถึงวันละ 10,000 บาททีเดียว, พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2553 โดยให้ผู้ประกอบการ E-Commerce ต้องมาจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

แต่เพราะที่ผ่านมาภาครัฐเองก็ไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับกลุ่มผู้ประกอบการ E-Commerce ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ประกอบการรายย่อยเลือกที่จะไม่จดทะเบียน เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี

แต่มาดูในอีกมุมหนึ่ง การที่ภาครัฐพยายามดึงผู้ประกอบการ E-Commerce เข้าสู่ระบบ ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะผู้บริโภคเองก็จะมีความเชื่อมั่นว่าจะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายผู้บริโภคและสามารถตรวจสอบร้านค้าเหล่านี้ได้ ในขณะเดียวกันในกรณีที่มีการฉ้อโกงเกิดขึ้น

ส่วนภาครัฐเองก็สามารถจัดเก็บภาษี E-Commerce จากร้านค้าออนไลน์เหล่านี้ได้เช่นกัน ซึ่งถือเป็นการสร้างความเท่าเทียมกันให้กับธุรกิจหน้าร้าน (Offline) อื่นๆ ที่ต้องเสียภาษี

แต่อย่างที่บอกว่าผู้ประกอบการ E-Commerce ยังคงเคยชินกับการที่ไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้น ภาครัฐและหน่วย งานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ประกอบการ E-Market Place อาจต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ E-Commerce มากขึ้นอีกหน่อย และทำอย่างต่อเนื่อง  เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการอาจจะไม่เข้าใจรายละเอียดตรงนี้ และมีความกังวลหลายๆ ด้านโดยเฉพาะเรื่องของการจัดเก็บภาษีย้อนหลัง

ดังนั้น ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านนี้ ภาครัฐควรจะมีวิธีการดำเนินการต่างๆ เพื่อดึงผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบและมีการจัดเก็บภาษี E-Commerce อย่างค่อยเป็นค่อยไปและชัดเจน ควบคู่ไปกับการออกมาตรการจูงใจต่างๆ อาทิ การยกเว้นในบางหมวดหมู่ หรือให้มีสิทธิพิเศษลดหย่อน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce ในภาพรวม และที่สำคัญต้องไม่ลืมที่จะประชาสัมพันธ์ถึงข้อดีของการจดทะเบียน ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของตัวร้านค้าที่จะนำมาซึ่งโอกาสที่จะเพิ่มยอดขาย เผลอๆอาจจะคุ้มกับภาษีที่ถูกจัดเก็บไปก็ได้

การให้เวลาในการปรับตัวก็เป็นอีกปัจจัยที่อาจต้องมีการยืดหยุ่นกันเล็กๆ น้อยๆ เพราะการกำหนดเวลาหรือเงื่อนไขภายใต้มาตรการที่เข้มงวดแบบทันทีเร่งด่วน อาจทำให้ผู้ประกอบการหลบเลี่ยงไม่เข้าระบบ กลายเป็นร้านค้า E-Commerce ที่ไร้ตัวตน และอาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ให้ตามแก้กันทีหลังตามมาอีกมากมาย