ระวัง! อาการ “Headline Stress Disorder” ความตึงเครียดจากการเสพข่าว

ระวัง! อาการ “Headline Stress Disorder” ความตึงเครียดจากการเสพข่าว

เมื่อโควิดไม่ได้ทำร้ายแค่กาย แต่กัดเซาะไปถึงสุขภาพจิต

ช่วงนี้ไม่ว่าจะเปิดทีวี โซเชียลมีเดีย หรือคุยกับคนข้างบ้าน หัวข้อก็ไม่พ้นเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ที่น่าเป็นห่วงขึ้นทุกวัน ยิ่งฟังก็ยิ่งเครียด รู้ตัวอีกทีอาจสะสมจนเกินระดับความเครียดทั่วไป ไปสู่อาการผิดปกติที่เรียกว่า “Headline Stress Disorder”

อ่านข่าวมากไป เสี่ยงเสียสุขภาพจิต

“Headline Stress Disorder” คือความตึงเครียดที่เกิดจากการเสพข่าวเรื่องใดเรื่องหนึ่งซ้ำ ๆ มากเกินไป โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดียที่เปิดให้คนอ่านข่าวได้ตลอด 24 ชม. จนเกิดเป็นความกังวลจนเกินพอดี หรือที่เรียกว่าอาการ Panic นั่นเอง ในรายที่อาการหนักอาจส่งผลกับสุขภาพกายและพฤติกรรมได้ ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ออกมาเตือนให้คนดูแลสุขภาพจิตควบคู่กันไปด้วยในช่วงระบาดของโควิด-19

กลุ่มคนที่เสี่ยงเป็น Headline Stress Disorder

  • เด็ก วัยรุ่น
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ หรือป่วยเรื้อรังอย่างอื่นอยู่ก่อน
  • ผู้ที่ต้องทำงานในจุดเสี่ยง เช่น หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สนามบิน
  • ผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตอย่างอื่นอยู่ก่อน หรือคนที่ใช้สารเสพติด

อาการของ Headline Stress Disorder

  • กังวลรุนแรงเกี่ยวกับสุขภาพองตัวเองและคนที่รัก
  • นอนไม่หลับ กินไม่ลง หรือความอยากอาการน้อยลง
  • คิดว่าตัวเองป่วย รู้สึกตัวร้อน ไอ คัดจมูก ซึ่งที่จริงอาจคิดไปเองหรือเกิดจากสาเหตุอื่น
  • ระแวงว่าทุกคนรอบข้างป่วย ตัดขาดจากโลกภายนอกจนเกินพอดี
  • หมกมุ่นความสะอาดมากเกินไป ล้างมือแทบจะตลอดเวลา ไม่กล้าหายใจลึก ๆ
  • ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับกิจกรรมต่าง ๆ ได้เหมือนปกติ
  • ปวดหัวหรือร่างกายเหนื่อยล้าแบบไม่ทราบสาเหตุ
  • ในวัยรุ่นอาจแสดงพฤติกรรมเกรี้ยวกราดผิดปกติ

วิธีป้องกัน Headline Stress Disorder

  • อย่าอ่านข่าวทั้งวัน พักจากหน้าจอบ้าง หรืออาจตั้งเวลากับตัวเองว่าจะอัปเดตข่าวแค่ตอนเช้ากับตอนเย็นเท่านั้น
  • อย่าอ่านแต่พาดหัวข่าว ให้อ่านเนื้อหาข้างในด้วย เพราะพาดหัวข่าวส่วนมากมักเขียนให้น่าตกใจเกินความจริง ต้องอ่านทั้งหมดแล้วพิจารณาข้อมูลอย่างมีสติ
  • อ่านข่าวจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ อ่านด้วยวิจารณญาณ หากฟังเขาเล่ามาก็อย่าเพิ่งเชื่อในทันที
  • ทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ทำอาหาร ทำงานฝีมือ
  • ดูแลสุขภาพ ทานอาหารดี ๆ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ใช้เวลากับคนในครอบครัวให้มาก หมั่นสังเกตสภาพจิตใจคนใกล้ตัว คอยให้กำลังใจกันและกัน
  • คิดเชิงบวกเอาไว้ เชื่อมั่นไว้ว่าถ้าเราดูแลตัวเองและคนในครอบครัวให้ดี ล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัย ไม่ไปในที่คนแออัด ก็จะปลอดภัยจากโรคได้ และโควิดไม่ใช่ว่าติดแล้วจะต้องตาย สามารถรักษาหายได้ในเวลาไม่นาน

สถานการณ์แบบนี้ สุขภาพใจเราอาจอ่อนแอได้ยิ่งกว่าสุขภาพกาย เพราะไวรัสนั้นเราพอจะเอาตัวหลบได้ แต่ความเครียดมันยังแทรกซึมเข้ามาได้ทุกวินาทีที่ลืมตาตื่น Power SME Thai ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน ทุกภาคส่วน และทุกประเทศ ผ่านวิกฤตนี้ไปอย่างราบรื่นได้ ด้วยร่างกายและจิตใจที่แข็งแกร่งครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก WHO, CDC, CBC