“ขายดีจนเจ๊ง” เป็นไปได้ไง!? กับดักทางบัญชีที่ SME พลาดกันมานักต่อนัก

ขายดิบขายดี มองเผิน ๆ น่าจะรวยไม่รู้เรื่อง แต่ไหงรู้ตัวอีกที ขาดทุนไม่รู้เรื่องแทนซะงั้น แบบนี้ก็มีด้วยหรอ!? บอกเลยว่าเป็นไปได้จริง แถมเกิดขึ้นบ่อยเสียด้วย เกิดจากอะไร ธุรกิจของคุณเข้าข่ายไหม ต้องตามมาดู รู้ก่อนก็แก้ไขทันครับ

คำนวณต้นทุนผิด

กรณีนี้เกิดขึ้นบ่อยที่สุด โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่มีต้นทุนหลายอย่างปนเปกัน หรือมีสินค้าหลายอย่างผลิตออกมาจากวัตถุดิบชุดเดียว การคำนวณต้นทุนจะมีความซับซ้อนหลายขั้น จนบางครั้งหลงลืมต้นทุนบางอย่างไป เช่น ค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง ค่าหีบห่อ ค่าโฆษณา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ท ดอกเบี้ยเงินกู้ ภาษี ฯลฯ ทำให้เข้าใจผิดไปว่าต้นทุนต่ำ และเผลอตั้งราคาสินค้าถูกเกินไป เกิดกำไรน้อยกว่าที่คาด หรือถ้าร้ายแรงคือไม่สามารถครอบคลุมต้นทุนจริงได้ด้วยซ้ำ ซึ่งแบบหลังนี้เรียกได้ว่า “เข้าขั้นวิกฤต” เพราะถ้ารู้ตัวช้า ธุรกิจก็อาจจะเจ๊งได้แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว หันมาอีกทีเงินหมุนเวียนหายเกลี้ยง

โปรโมชั่นแรงจนเข้าเนื้อ

อันนี้มีส่วนคล้ายกับข้อข้างบน บางครั้งธุรกิจจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม เพื่อดึงลูกค้าใหม่ ๆ หรือกระตุ้นยอดขายในระยะสั้น แต่อาจจะกำหนดไว้แต่ระยะเวลาโปรโมชั่น โดยลืมกำหนดเพดานงบประมาณในการจัดโปรโมชั่นหรือจำนวนของแถมเอาไว้ให้แน่ชัดด้วย พอลูกค้าหลั่งไหลมามากเข้าก็กลายเป็นเข้าเนื้อแทนจะได้กำไร จะมาเบรกเอากลางทางก็เสี่ยงโดนกระแสตีกลับจากลูกค้าอีก ฉะนั้นจำเอาไว้ว่าหากคิดจะจัดโปรใด ๆ ก็แล้วแต่ ควรเริ่มจากการกำหนดงบประมาณที่จ่ายไหวก่อน แล้วค่อยเอางบนั้นมาขยายเป็นแผนระยะเวลา จำนวนคูปอง หรือจำนวนของแถมต่อไป

ทำสงครามราคากับคู่แข่ง

ในบางกรณี ธุรกิจอาจจะยอมลดราคาทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าขาดทุน เพื่อเรียกลูกค้ามาลองในทีแรก หรือตัดราคาแข่งกับคู่แข่ง แล้วหวังจะมาขึ้นราคาเอาตอนหลัง ซึ่งข้อนี้ก็ต้องระวังให้ดี เพราะถ้าคุณเลือกแจกส่วนลดไม่ถูกกลุ่มเป้าหมาย หรือลดมากเกินไป ลูกค้าที่ได้ส่วนลดไปอาจจะไม่ได้สนใจกลับมาซื้ออีกเลยหลังจากหมดโปร และการที่ทุกร้านแข่งกันลดราคา แทนที่จะโฟกัสที่การพัฒนาคุณภาพ นั่นเท่ากับว่าใครสายป่านสั้นกว่า ขึ้นราคาก่อน ก็คือแพ้ และถ้าสุดท้ายไม่มีใครกล้าขึ้นราคาเลย สมรภูมิการแข่งขันก็จะกลายเป็นการฆ่าตัวตายหมู่ไปเท่านั้นเอง

บริหารสภาพคล่องผิดพลาด

ธุรกิจจะรุ่งหรือร่วง ส่วนหนึ่งอยู่ที่กระบริหารกระแสเงินสด (Cash Flow) บางธุรกิจอาจจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่ลูกค้าที่ได้เป็นลูกค้าเงินเชื่อทั้งนั้น ยังไม่ได้รับเงินจริง ในงบกำไรขาดทุนเลยแสดงว่ามีกำไร แต่พอเข้าไปดูในงบกระแสเงินสด กลับแทบไม่มีรายได้ที่เป็นเงินเข้ามาเลย พอถึงเวลาธุรกิจต้องใช้จ่ายหรือใช้หนี้ จึงเกิดอาการ “เงินฝืด” ขึ้นมา เพราะมีแต่ลูกหนี้ ไม่มีเงินสด ทางบัญชีจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Asset-Liability Mismatch” คือการบริหารสินทรัพย์ไม่สอดรับกับหนี้สิน แบบนี้ก็มีสิทธิ์ทำธุรกิจล้มได้เหมือนกัน

เอาเงินของกิจการไปใช้จ่ายส่วนตัว

เจ้าของธุรกิจบางคนมองว่าธุรกิจเป็นเหมือนบ่อเงินบ่อทอง จะหยิบเงินออกไปใช้จ่ายส่วนตัวเท่าไรก็ได้ ถือว่าตัวเองเป็นเจ้าของ แบบนี้บอกเลยว่าคิดผิดหนักมาก เพราะการชักเงินหมุนเวียนกิจการไปใช้จ่ายส่วนตัว จะทำให้เกิดต้นทุนที่มองไม่เห็น แถมไม่เกิดเป็นรายได้อะไรกลับมาสู่ธุรกิจเลย ยิ่งเจ้าของใช้เงินเพลินมือ ต้นทุนก็ยิ่งบาน กำไรก็ยิ่งหด ทุนสำรองก็หาย รู้ตัวอีกทีเจ๊งทั้งกิจการทั้งเจ้าของ ทางที่ดี เจ้าของควรปฏิบัติเหมือนตัวเองเป็นลูกจ้างคนหนึ่งของกิจการ ให้ค่าตอบแทนตัวเองเป็นเงินเดือนในจำนวนที่แน่นอนเหมือนกับพนักงานคนอื่น ๆ แล้วคิดจะใช้จ่ายอะไร ก็ใช้เงินเดือนตัวเองโดยไม่ปนกับเงินกิจการจะดีที่สุด

โดนโกง!

อันนี้เข้าใจง่าย แต่แก้กันไม่จบตั้งยุคดึกดำบรรพ์ ผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใครอยู่แล้วเป็นธรรมชาติของมนุษย์ สรุปว่าอย่าไว้ใจใครมากเกินไปดีที่สุด กำหนดนโยบายเงินเข้าเงินออกให้ชัดเจน บังคับใช้อย่างเคร่งครัด อย่าหย่อนยานกับคนกันเอง คนสนิท คนเก่าคนแก่ หรือใครทั้งสิ้น ใครเบิก ใครจ่าย ใครเซ็นเช็ค จัดซื้อจัดจ้าง จำนวนของในสต็อก ฯลฯ ทั้งหมดต้องตรวจสอบได้ และต้องหมั่นตรวจสอบด้วย

การปิดกิจการอาจจะเป็นข่าวร้ายแล้ว แต่ถ้าล้มแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวนี่เจ็บหนักยิ่งกว่า เพราะคุณจะไม่มีเวลาได้วางแผนหาทางลงแบบสวย ๆ แน่นอน พูดกันตรง ๆ เลยว่างานนี้มีสะบักสะบอม พังกันไปก็ไม่น้อย ฉะนั้นข้อควรระวังเหล่านี้ ห้ามมองข้ามโดยเด็ดขาดนะครับ