Social Media เครื่องมือทรงพลังที่ทำให้องค์กรเจอกับพนักงานที่ถูกจริต

บริษัทที่กำลังเริ่มต้นกิจการหรือมีแพลนที่จะขยายกิจการ นอกจากเรื่องของทำเล เงินทุน กลยุทธิ์แล้วส่วนสำคัญที่องค์มองหาเป็นอันดับแรกๆก็คือ “คน” ที่เหมาะสมซึ่งจะเข้ามารับผิดชอบดูแลงานในส่วนต่างๆ  แต่การจะได้มาซึ่งพนักงานที่ไช่ตรงทั้งจริตขององค์กรและจริตของงานนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยจริงๆ

แต่คุณรู้ไหมว่า Social Media ยอดฮิตที่คนไทยนิยมเล่นกันทั้ง เฟชบุ๊ค ทวิตเตอร์ ไปจนถึงอินสตาแกรมเหล่านี้นี่แหละที่จะทำให้องค์กรได้เจอกับพนักงานที่ใช่ แล้วองค์กรหรือ HR ยุคใหม่จะนำ Social Media เหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการค้นหาพนักงานหน้าใหม่ที่จะมาเติมไฟให้องค์กรยิ่งลุกโชนได้อย่างไร

จากผลสำรวจของ Society for Human Resource Management (SHRM) บอกไว้ว่าองค์กรกว่า 76% มีแผนใช้ Social Media ในการสรรหาพนักงาน และครึ่งหนึ่งขององค์กรที่เข้าร่วมตอบแบบสอบถามต่างยืนยันว่าช่องทางนี้เป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพ

โดย HR สามารถหยิบ Social Media มาเป็นเครื่องมือสำหรับงาน Recruitment 2 ส่วนคือ

  • ใช้เป็นพื้นที่หาคน
  • ใช้เป็นเครื่องสแกนคนที่ยื่นใบสมัครเข้ามานั่นเอง

ใช้ Social Media เป็นพื้นที่หาเพื่อนร่วมงานคนใหม่

องค์กรสามารถเข้าถึงผู้สมัคร ผ่านการโพสต์ประกาศรับสมัครงานบน Social Media ของบริษัทนอกเหนือจากการลงประกาศผ่านเว็บไซต์หางาน หรือเว็บไซต์ขององค์กร เผลอๆช่องทางนี้คนเห็นเยอะกว้าง คนแชร์และเข้าถึงคนที่สนใจงานนี้ได้เร็วและกว้างขึ้นด้วย

เพราะไม่ใช่แค่คนที่สนใจงานจะมองเห็นเท่านั้น แต่คนที่มองเห็นโพสสามารถแชร์หรือแท็กให้กับคนรู้จักที่สนใจตำแหน่งงานดังกล่าวได้อีกด้วย ซึ่งการโพสรับสมัครงานผ่านโซเชียลมีเดียมี2ช่องทางคือ

  1. การโพสต์ผ่าน Social Media ของเว็บไซต์ประกาศงานต่าง ๆ ที่เริ่มหันใช้ Social Media ของตัวเองเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ใหม่สำหรับให้บริการลูกค้าองค์กรในการลงประกาศงาน ข้อดีของช่องทางนี้คือมีคนติดตามจำนวนมาก สามารถกระจายประกาศรับสมัครออกไปในวงกว้าง
  2. ประกาศรับสมัครงานผ่านทาง Social Media ขององค์กรเอง  แน่นอนว่าคนกลุ่มแรกที่มองเห็นประกาศที่ว่านี้ก็คือคนที่ติดตามและมีความสนใจในองค์กรอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังสามารถโปรโมตโพสรับสมัครงานให้ตรงกับเป้าหมายที่องค์กรต้องการแต่ถ้าเราโพสต์ประกาศงานบน Social Media ของบริษัทเราเอง ก็จะทำให้คนที่กดติดตามเห็นประกาศงานนั้นของเรา ซึ่งจะทำให้เรามีโอกาสได้ผู้สมัครที่สนใจบริษัทของเราอยู่แล้ว ที่สำคัญในบาง Social Media เรายังซื้อโฆษณา โดยที่ระบุ Target ที่เราต้องการให้โฆษณาไปถึงได้อีกด้วย

นอกจากนี้ Social Media ยังสามารถกลายร่างเป็นเวทีนำเสนอ Culture ขององค์กร เพราะบางครั้งวัฒนธรรมองค์กรที่น่าอยู่และเหมาะกับไลฟ์สไตล์การทำงานของพนักงานก็เป็นสิ่งที่แรงงานรุ่นใหม่มองหาและคาดหวังนอกเหนือจากงานที่ชอบ เงินเดือนและสวัสดิการอีกด้วย

ดังนั้นจะเห็นว่าในระยะหลังๆมานี้มีหลายองค์กรที่หันมาใส่ใจและเริ่มทำ Employer Branding ให้คนภายนอกได้รู้จักองค์กรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการอัปโหลดวิดีโอแนะนำองค์กร โพสต์ภาพกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดให้กับพนักงาน หรือภาพรางวัลต่างๆ ที่องค์กรได้รับ รวมไปถึงการไลฟ์ในขณะที่มีอีเวนต์พิเศษอะไรบางอย่างกันมากขึ้น

และที่สำคัญอย่าละเลยที่จะดึงให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในการ Engagement กับโพสต์ต่าง ๆ บน Social Media ขององค์กร ด้วยการโพสต์และแชร์อะไรบางอย่างที่พูดถึงองค์กรบน Social Media ของพวกเขาเอง เพราะการที่คนนอกองค์กรได้ทำความรู้จักองค์กรผ่านประสบการณ์หรือคำพูดของคนที่ทำงานอยู่ในองค์กรจริง ๆ ย่อมส่งผลดีและสร้างความน่าเชื่อถือโดยไม่เสียเงินก้อนโตๆในการทำโฆษณาเพื่อสร้างภาพลักษณ์องค์กรเลย

เครื่องมือคัดกรองผู้สมัครงาน

ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นช่องทางเผยแพร่ประกาศรับสมัครงานเท่านั้นแต่ Social Media ยังกลายมาเป็นเครื่องมือคัดกรองผู้สมัครงานที่ทรงอิทธิพลอย่างมาก เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเป็นตัวเองมากที่สุดบนSocial Media ส่วนตัว ดังนั้นHRสามารถพิจราณาผู้สมัครเบื้องต้นว่าเป็นคนแบบไหน ผ่านสเตตัส และการแชร์ต่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่โชว์ในเรซูเม่อย่างแน่นอน

เพราะอย่าลืมว่า ผู้สมัครงานย่อมหวังตำแหน่งงานอยู่แล้ว ดังนั้นผู้สมัครงานทุกคนย่อมเตรียมพร้อมที่จะนำเสนอด้านดีๆของตัวทั้งสิ้น ดังนั้นสิ่งที่ปรากฏบนSocial Media ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษา ถ้อยคำ การพูดถึงที่ทำงานเก่าในเชิงลบ การโพสรูปที่เป็นของคนอื่นโดยไม่ให้เครดิต ก็สามารถบ่งบอกบางสิ่งที่มีผลต่อตำแหน่งงานได้เหมือนกัน

นอกจากความสามารถตรงตำแหน่งงานที่องค์กรต้องการแล้ว การจะรับพนักงานสักคนเข้ามาอยู่ร่วมลักษณะนิสัยและทัศนคติที่เข้ากับทีมและองค์กรได้ก็เป็นเรื่องสำคัญ Social Media เป็นช่องทางที่จะเห็นตัวตนของผู้สมัครคนนั้นถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ตัวตนทั้งหมดแต่ก็พอแสดงออกให้เห็นได้ว่า เขาเหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรของคุณหรือเปล่า

ไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่แสดงออกถึงตัวตนเท่านั้น แต่ Social Media ของผู้สมัคร อาจกลายเป็น Portfolio ที่โชว์ผลงานดีดีที่ไม่ปรากฏในเรซูเม่และอาจทำให้องค์กรได้เห็นความสามารถด้านอื่นๆของผู้สมัครได้อีกด้วย ซึ่งบางครั้งผู้สมัครบางคนอาจโพสเล่าเกี่ยวกับการทำงาน อุปสรรคที่เจอ วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่ง HR สามารถนำมาประกอบพิจาราณาได้

นอกจากนี้ HR ยังสามารถใช้ Social Media ในการรีเช็คว่าสิ่งที่ปรากฏในเรซูเม่เป็นความจริงและสิ่งที่สร้างขึ้นมาลอยๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการนำ Social Media เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน Recruitment ต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของ HR หรือหัวหน้างานที่รับผิดชอบในแต่ละตำแหน่ง เพราะบางตำแหน่ง Social Media ก็ไม่อาจไม่จำเป็นแต่ก็สำคัญมากในสายงานบางประเภทอาทิเช่นงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร การตลาด หรือสาย Developer ที่ต้องอัปเดตเทรนด์ Social Media ใหม่ๆ อยู่เสมอ  Social Media ก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้องค์กรได้เจอกับพนักงานที่ใช่ก็เป็นได้