ทำไม Google ถึงเลือกจ่ายค่าจ้างแบบ “ไม่เท่าเทียม”

ทำไม Google ถึงเลือกจ่ายค่าจ้างแบบ “ไม่เท่าเทียม”

ที่ Google พนักงาน 2 คนที่มีตำแหน่งเดียวกัน อาจได้ค่าตอบแทนต่างกันถึงร้อยเท่า

Laszlo Bock อดีตหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ Google ได้เคยกล่าวไว้ในหนังสือชื่อ “Work Rules! : Insights From Inside Google That Will Transform How You Live and Lead” ที่เขาเป็นคนเขียน พูดถึงกลยุทธ์ของ Google ที่ใช้ในการจัดสรรค่าจ้างพนักงาน โดยใช้แนวคิดที่เรียกว่าหลัก “ค่าจ้างไม่เท่าเทียม” (Unfair Pay)

แค่ฟังชื่อก็ชวนทะเลาะแล้ว มันจะดีจริงหรอเนี่ย?

“Unfair Pay” หลักการจ่ายค่าจ้างที่ไม่เสมอภาค แต่ยุติธรรม

Laszlo Bock อธิบายหลักการ Unfair Pay ไว้ว่า คือการจ่ายค่าตอบแทนที่สูงมาก ๆ อย่างไม่น่าเชื่อให้กับคนที่ผลงานน่าประทับใจที่สุด แม้ว่าจะมีคนอื่นที่ตำแหน่งเดียวกัน เนื้องานเหมือนกัน แต่คนที่เป็นตัวท็อปคนนี้อาจได้ค่าตอบแทนรวมสูงกว่าเพื่อนตั้งแต่ 3 เท่าไปจนถึง 100 เท่า ส่วนคนอื่น ๆ ที่ผลงานระดับค่อนข้างดี ปานกลาง ไปจนถึงรั้งท้าย กลุ่มนี้จะได้ค่าจ้างไม่ต่างกันมาก

ยกตัวอย่างเช่น พนักงานผลงานกลาง ๆ ได้ผลตอบแทนเป็นหุ้นมูลค่า 10,000 ดอลลาร์ ในขณะที่อีกคนในตำแหน่งเดียวกันแต่ผลงานโดดเด่นเกินหน้าเกินตาสุด ๆ ได้หุ้นมูลค่าถึง 1,000,000 ดอลลาร์ก็เคยมีมาแล้ว

ดังนั้นที่ Google จึงมีบ่อยครั้งที่พนักงานอายุน้อย ตำแหน่งไม่หรูหรา สามารถทำรายได้แซงรุ่นพี่ตำแหน่งใหญ่โตไปแบบไม่เห็นฝุ่น

การทำเช่นนี้ทำให้พนักงานมีกำลังใจจะปีนป่ายสู่ความสมบูรณ์แบบ ยอมทุ่มเทเพื่อความเป็นเลิศ แค่ดีเฉย ๆ ไม่พอ แต่ต้องดีให้สุด เพราะผลของมันคุ้มค่าความพยายาม ซึ่งถึงมันจะไม่เท่าเทียม แต่มันยุติธรรมในแง่ของคุณภาพและความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่คน ๆ นั้นได้สร้างให้กับองค์กร

Google เริ่มต้นจากเลือกคนเก่งเข้ามาในองค์กร ผลักดันให้คนเก่งนั้นเก่งขึ้นไปเรื่อย ๆ และดึงดูดคนประเภทเดียวกันเข้ามา เราเลยได้เห็น Google เติบโตแซงหน้าเป็นระดับท็อปโลก ด้วยเรี่ยวแรงของบุคลากรระดับท็อปที่มารวมตัวกัน ขึ้นแท่นหนึ่งในบริษัทที่น่าทำงานด้วยที่สุดในโลกไปเรียบร้อย

สะท้อนให้เห็นว่า “เท่าเทียม” ไม่ได้เท่ากับ “ยุติธรรม” เสมอไป การจัดสรรค่าตอบแทนอย่างเสมอภาค โดยไม่ให้น้ำหนักกับคุณภาพมากเท่าที่ควร ทำดีไปก็ไม่ได้อะไรเพิ่ม อาจกลายเป็นการปลูกฝังให้ทุกคนไหลไปรวมกันเป็น “มนุษย์ปานกลาง” ซึ่งคงไม่มีองค์กรไหนอยากได้แต่คนกลาง ๆ หรอกจริงไหมครับ

ถ้าชอบบทความนี้ สามารถกด Like เพจ “ศูนย์นวัตกรรมทางเทคโนโลยี” และตั้งค่า See First เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ เรื่องราวแรงบันดาลใจ และบทวิเคราะห์ดี ๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อเจ้าของธุรกิจโดยเฉพาะ