เรื่องต้องรู้เมื่ออยากค้าขาย e-Commerce กับแดนมังกร

เป็นที่รู้กันดีว่ากำลังซื้อของชาวจีนในช่วงไม่ถึง10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามเศรษฐกิจที่ลูกศรพุ่งขึ้นอย่างไม่รู้จบ และที่สำคัญดูเหมือนว่าชาวจีนจะนิยมเลือกซื้อสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศเพราะเชื่อว่าคุณภาพสินค้าดีกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ ส่วนหนึ่งอาจมาจากสินค้าลอกเลียนแบบ และสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่มักเป็นข่าวคราวให้เห็นกันบ่อยๆ ดังนั้นชาวจีนจึงให้น้ำหนักกับคำว่า “ของแท้” (Genuine Product Guarantee) มากกว่าที่จะสนใจราคาหรือระยะเวลาขนส่งเมื่อต้องซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ ส่งผลให้แพลตฟอร์ม CBEC ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักช้อปชาวจีน

นักช้อปปิ้งเหล่านี้ตัดสินใจเลือกซื้อจากการรีวิวของผู้ใช้งาน เพื่อนแนะนำบอกต่อ รวมถึงความน่าเชื่อถือของตัวแพลตฟอร์มเอง ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักช็อปปิ้งชาวจีนในการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม CBEC จึงมีความสำคัญอย่างมากและสามารถทำได้หลายวิธี อาทิเช่นระบบ “สืบค้นย้อนกลับ” หรือ Traceability เพื่อรับประกันความแท้ของสินค้าซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในกลุ่มสินค้าแม่และเด็ก เครื่องสำอาง และอาหารเสริม ทั้งการเปิดเผยแหล่งสินค้า และกระบวนการตรวจ/ทดสอบสินค้า การแสดงเอกสารต่างๆ เพื่อสร้างน้ำหนักความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้าออนไลน์ของตน เช่น หนังสือมอบอำนาจ/แต่งตั้งตัวแทนจากแบรนด์ผู้ผลิต ใบอนุญาตประกอบกิจการ การติดตามสถานะสินค้าในกระบวนการขนส่ง การรับประกันและให้คำมั่นสัญญาในการชดเชยกรณีสินค้าปลอม

นอกจากนี้ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง เปิดเผยว่า ผู้บริโภคชาวจีนค่อนข้างคาดหวังกับบริการที่สะดวกและรวดเร็ว การที่ “สินค้าถึงมือ” รวดเร็วทันใจเป็นหนึ่งในประสบการณ์การช็อปปิ้งที่น่าประทับใจของลูกค้าหลาย ๆ คน และเป็นโจทย์ให้ผู้ค้าได้ขบคิดว่าจะเลือกโมเดล CBEC แบบไหนที่ตอบโจทย์กับตัวสินค้าและกลุ่มลูกค้าเราได้มากที่สุดเพราะช่องทางการตลาดในธุรกิจ CBEC แต่ละแบบมีข้อดี/ข้อด้อยที่แตกต่างกัน ดังนี้

  1. สต็อกสินค้าไว้ที่คลังสินค้าทัณฑ์บนในจีน (Bonded Warehouse: BW) เป็นโมเดล B2B2C ที่มีต้นทุนการขนส่งต่ำ การจัดส่งสินค้าถึงมือลูกค้ามีความรวดเร็วภายใน 3-7 วัน สินค้าถึงมือผู้บริโภคมีราคาถูกเพราะได้รับการยกเว้น/ลดภาษี แต่ผู้ประกอบการต้องรับภาระในกรณีสินค้าหมดอายุและคลังสินค้ามี Positive List ซึ่งเหมาะสำหรับสินค้าแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างและสินค้าที่ฮิตติดตลาดแล้ว
  2. ส่งตรงจากต่างประเทศ เป็นโมเดล B2C ทั้งการแยกส่งเป็นชิ้นๆ แบบพัสดุไปรษณีย์ และใช้โกดังในประเทศต้นทางเพื่อรวมส่งทีเดียว ซึ่งลูกค้าต้องรอสินค้านานหลายสัปดาห์และต้องเสียภาษีจิปาถะ ทำให้มีสินค้ามีราคาแพงกว่าแบบสต็อกที่คลังสินค้าทัณฑ์บนในจีน การบริหารจัดการคลังสินค้าในต่างประเทศอาจมีต้นทุนสูงกว่า จึงเหมาะสำหรับการค้าปริมาณไม่มาก ธุรกิจที่กำลังเริ่มต้นหรือต้องการนำสินค้าเพื่อทดลองตลาด

โดยสินค้าที่นักช็อปปิ้ง CBEC ชาวจีนยังคงมองหาจากต่างประเทศเป็นลำดับแรกคืออาหาร ตามด้วยเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอาง สินค้าดิจิทัล อุปกรณ์กีฬา สินค้าแม่และเด็ก และผลไม้สด โดยนักช็อปปิ้ง CBEC ให้ความไว้วางใจกับสินค้าที่ผลิตจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา และเกาหลีใต้

ในส่วนของการรับรู้ “แบรนด์สินค้า” เป็นที่ทราบกันดีว่า…จีนเป็นตลาด (ปราบเซียน) ที่หมายตาของผู้ผลิตสินค้าทั่วโลก รวมทั้งยังเป็นตลาดที่ซับซ้อนและมีการแข่งขันที่สูงมาก หากแบรนด์ยังไม่เป็นที่รู้จัก ควรเริ่มต้นจากการสร้างแบรนด์เสียก่อน โดยปัจจุบัน “สื่อสังคมออนไลน์” นับเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพสูง เพราะชาวจีนส่วนใหญ่จะหาข้อมูลรีวิวหรือประสบการณ์การใช้สินค้าจากอินเทอร์เน็ตก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า สินค้าไทยหลายชนิดที่ติดตลาดหรือเป็นที่นิยมในจีนก็มีจุดเริ่มต้นจากการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจนแบรนด์เริ่มติดตลาดจากการรีวิวหรือการบอกต่อในหมู่เพื่อนสนิทมิตรสหาย

นอกจากนี้พลังของคนดังในโลกโซเชียลก็ยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคอยู่ไม่น้อย การจับทาง Influencer Marketing จึงเป็นอีกกลยุทธ์ที่น่าสนใจ การแบ่งปันประสบการณ์บนโลกออนไลน์ของคนดังหรือเน็ตไอดอลช่วยให้แบรนด์สินค้า “ดังเป็นพรุแตกเพียงชั่วข้ามคืน” มาแล้ว อย่างแบรนด์มาส์กหน้าไทยตัวย่อ R ที่สร้างกระแสบนโลกโซเชียลจีนได้จากการแชร์ประสบการณ์ของนางเอกสาวฟ่าน ปิงปิง

และท้ายที่สุดยคือเรื่อง “ราคา” แน่นอนว่า นักช็อปปิ้งชาวออนไลน์จีนก็ไม่ได้ต่างไปจากลูกค้าที่มุมโลกอื่น พวกเขาสามารถเช็คราคาก่อนการตัดสินใจซื้อ แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาเหล่านั้นต้องการซื้อของที่ถูกที่สุด แต่การเช็คราคาก็เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่า ตัวเองจะไม่โดนหลอก

เพราะตลาดสินค้าออนไลน์ในจีนมีการแข่งขันค่อนข้างดุเดือด ผู้ค้ามักเปิด “สงครามราคา” สู้กับคู่แข่ง “การกำหนดราคา” จึงควรมีการเปรียบเทียบราคากับผลิตภัณฑ์คู่แข่งและกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้สินค้าเราสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้  สำหรับผู้ผลิต/เจ้าของแบรนด์ที่ไม่ได้ลงไปเป็นผู้เล่นด้วยตัวเอง “การควบคุมราคาสินค้า” เป็นสิ่งที่ผู้ค้าไม่ควรละเลย เนื่องจากอาจส่งผลถึงภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตาของผู้บริโภคชาวจีนที่มีต่อสินค้า ดังนั้น การกำหนดราคาและการควบคุมราคาสินค้า จึงมีความสำคัญและเป็นเหตุผลประกอบการตัดสินใจอย่างหนึ่งของลูกค้า