กลยุทธ์สู่ความสำเร็จของธุรกิจ Cold Chain Logistics

ในยุคที่อีคอมเมิร์ชเติบโตไม่ไว้หน้าสภาพเศรษฐกิจที่ดูๆ แล้วยังไม่สดในเท่าไหร่ ไม่ว่าจะธุรกิจไหนๆ ก็กระโดดเข้ามาร่วมวงอีคอมเมิรชทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ที่เดิมรายใหญ่ๆ ก็ต้องพึ่งพาระบบโลจิสติกแบบ Cold Chain Logistics หรือระบบคลังสินค้า และขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ เพื่อควบคุมคุณภาพสินค้า

แต่เมื่ออีคอมเมิรชเติบโต ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่อยู่ในธุรกิจอาหารเครื่องดื่มเองก็ต้องมองหา และพึ่งพา Cold Chain Logistics เช่นเดียวกัน ส่งผลให้ธุรกิจ Cold Chain Logistics เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เนื้อหอมไม่น้อยเลยทีเดียว

โดยทั่วไปแล้วค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเฉลี่ยอยู่ที่ราว 10% ของค่าใช้จ่ายด้านการขายทั้งหมด เมื่อความต้องการด้านโลจิสติกส์ปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบ Cold Chain ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และเม็ดเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง ทั้งในส่วนของการสร้างคลังสินค้า การจัดซื้อรถขนส่งสินค้า รวมไปถึงเรื่องยุ่งยากอย่างการลงทุนด้านไอทีในการควบคุมระบบความเย็นให้มีเสถียรภาพ

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจะหันมาใช้บริการจากบริษัท Cold Chain Logistics ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาบริหารจัดการแทน นอกจากจะลดขั้นตอนการทำงานแล้วยังช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์อีกด้วย โดยการใช้บริการ Cold Chain Logistics สำหรับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มพบมากใน 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเองจับมือกับผู้ประกอบการโลจิสติกส์จัดตั้งบริษัทในรูปแบบพันธมิตรธุรกิจเพื่อให้บริการ Cold Chain Logistics แบบครบวงจรกับกลุ่มธุรกิจในเครือแล้วจึงขยายการให้บริการไปสู่ธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน
  2. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มใช้บริการจากผู้ให้บริการ Cold Chain Logistics ในรูปแบบ Outsource  แต่ไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการ Cold Chain Logistics รูปแบบไหนก็เป็นโอกาสของผู้ประกอบการโลจิสติกส์เดิมและผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ต้องการก้าวเข้าสู่ธุรกิจ Cold Chain ทั้งนั้น

แต่ช้าก่อนผู้ประกอบการคนไหนที่มองเห็นโอกาสจากธุรกิจนี้ที่ และคิดจะกระโดดเข้าไปร่วมวง หยุดคิดซักนิดเพราะตลาดนี้พูดได้คำเดียวว่า ไม่ง่าย เพราะคุณจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่

  • ความแตกต่างของอุณหภูมิที่ใช้สำหรับสินค้าแต่ละประเภท
  • การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรง
  • กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นอย่างแน่นอน

ถึงอย่างนั้นก็ยืนยันได้อีกเช่นกันว่าในอนาคตธุรกิจ Cold Chain Logistics มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้มากขึ้น ที่สำคัญในปัจุบันมีผู้ให้บริการที่ได้มาตรฐานในปริมาณที่น้อย จึงเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการในหลายกลุ่มธุรกิจจับตามองเพื่อสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจ ขณะที่อุปสรรคสำคัญของธุรกิจนี้ยังคงอยู่ที่

  1. ความแตกต่างของอุณหภูมิที่ใช้ขนส่งและจัดเก็บสินค้าแต่ละประเภท
    ตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ประกอบการที่จะเริ่มธุรกิจนี้ ต้องโฟกัสสินค้าที่ต้องการให้บริการอย่างชัดเจนรวมถึงการขออนุญาตขนส่งและจัดเก็บอย่างถูกต้อง เพราะผู้ประกอบการไม่สามารถเปลี่ยนประเภทสินค้าที่ให้บริการได้ง่ายนัก
  2. การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในระยะยาว
    ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากเทรนด์ที่กลุ่มผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเริ่มจับมือกับกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อจัดการระบบ Cold Chain Logistics แบบครบวงจรให้กับบริษัทในเครือ และขยายการให้บริการกับธุรกิจในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์เดิมที่ไม่มีบริการ Cold Chain และผู้เล่นใหม่ที่จะเข้ามาในตลาด Cold Chain Logistics มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
  3. กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสุขอนามัยที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้นในหลายประเทศ
    เช่น การติดฉลาก RFID สำหรับผู้บริโภคเพื่อตรวจสอบประวัติสถานะอุณหภูมิของสินค้าในสหรัฐฯ และข้อบังคับ Good Distribution Practice สำหรับผู้ประกอบการ cold chain logistics ในสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงขึ้น รวมถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการค้าที่มีผลต่อสินค้าที่ต้องการบริการ cold chain logistics เช่น อินโดนีเซียใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าพืชสวนจากต่างประเทศ ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงถอดใจกันไปบ้างแล้ว แต่เพื่อเม็ดเงินและกำไรที่จะเก็บเกี่ยวได้จากธุรกิจนี้ก็ยังน่าสนใจอยู่ดี แต่คำถามคือ จะเอาตัวรอดในธุรกิจนี้ได้อย่างไร

หากคุณคิดที่เข้ามาในธุรกิจนี้แต่เงินทุนยังไม่หนาพอ หรือคิดว่าการทำธุรกิจ 2ขา ทั้งการให้บริการคลังสินค้าและการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ เป็นเรื่องที่เกินตัวไปสักนิด มาลองเปรียบเทียบระหว่างการให้บริการคลังสินค้าและการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ ก็จะพบว่าการให้บริการคลังสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิมีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยสูงกว่าการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิราว 15%

นอกจากนั้น ในระยะสั้นอัตราผลกำไรขั้นต้นของการให้บริการคลังสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากอัตราค่าเช่าพื้นที่ที่สูงขึ้นตามอุปสงค์ของตลาด ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าซึ่งเป็นต้นทุนหลักมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ดีการให้บริการคลังสินค้าจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงและมีระยะคืนทุนค่อนข้างนาน

ส่วนเคล็ดลับความสำเร็จของธุรกิจ Cold Chain Logistics อาจไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด เพราะอีไอซีช่วยประเมินมาแล้วว่า การสร้างพันธมิตรและการทำสัญญาระยะยาวกับผู้ว่าจ้างถือเป็น 2 กลยุทธ์สำคัญสู่ความสำเร็จของธุรกิจขนส่งสินค้าและคลังสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิได้ดีที่สุด

เพราะการสร้างพันธมิตรทางการค้ากับผู้ผลิตสินค้า ร้านค้าปลีกชั้นนำ และร้านอาหารแฟรนไชส์ จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีฐานลูกค้าที่แน่นอนและมีโอกาสที่จะได้รับรายได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการสร้างพันธมิตรมักพบเห็นในรูปแบบการร่วมทุนและการร่วมมือพัฒนาโครงข่ายการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในหลายมิติ

นอกจากนี้การทำสัญญาระยะยาว 3 ปีขึ้นไปถือเป็นอีกกลยุทธ์สำคัญของธุรกิจ Cold Chain Logistics เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถวางแผนการดำเนินงานธุรกิจ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าการลงทุนและควบคุมต้นทุนการดำเนินงานได้ รวมทั้งสามารถเพิ่มมูลค่าของการใช้ประโยชน์คลังสินค้าและรถขนส่งได้มากขึ้น

ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพิ่มความแน่นอนและความต่อเนื่องของรายได้นั่นเอง