เจ็บกันมาเยอะ! 4 เหตุผลที่ผู้ประกอบการต้องแยก “เงินของกิจการ” ออกจาก “เงินส่วนตัว”

เจ็บกันมามิใช่น้อย เจ๊งกันมาก็เยอะ กับการเผลอชักเอาเงินของกิจการไปใช้จ่ายส่วนตัว เจ้าของธุรกิจมือใหม่บางคน โดยเฉพาะธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียว อาจจะคิดว่าตอนลงทุนเปิดกิจการก็ใช้เงินส่วนตัว แล้วทำไมรายได้ที่ได้มาจะหยิบไปใช้เป็นของเราเองสบาย ๆ ไม่ได้ล่ะ? ขอบอกว่ามีข้อเสียร้ายแรงกว่าที่คิดแน่นอน เข้าขั้นคอขาดบาดตาย ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลยนะ

1. กำไรหดหาย ขาดทุนไม่รู้ตัว

เงินของกิจการ เมื่อใช้จ่ายเป็นต้นทุนของกิจการ จะทำให้เกิดรายได้หมุนกลับมาที่ธุรกิจ แต่ถ้าเอาไปใช้จ่ายเป้นเงินส่วนตัว จะกลายเป็นรายจ่ายที่ไม่เกิดรายได้อะไรกลับมาเลย ดังนั้นการเอาเงินจากกิจการมาใช้ส่วนตัวอาจทำให้เจ้าของประเมินสถานการณ์พลาด หลงคิดว่ากิจการยังมีกำไร ทั้งที่ความจริงกำไรปลิวหายไปกับค่าใช้จ่ายส่วนตัวหมดแล้ว เรียกได้ว่าเจ๊งไม่รู้ตัวกันเลยทีเดียว

2. ประเมินทุนสำรองไม่ได้

การเอาเงินกิจการไปใช้เองบ่อย ๆ ทำให้ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนไม่แน่นอน มากน้อยเปลี่ยนไปตามความพอใจจะใช้จ่ายของเจ้าของ ในเมื่อค่าใช้จ่ายต่อเดือนระบุไม่ได้ ก็ไม่สามารถประเมินเงินทุนสำรองที่ควรมีได้นั่นเอง เวลาฉุกเฉินหรือธุรกิจสะดุดกึกขึ้นมา สายป่านที่มีอาจไม่ยาวพอจะหล่อเลี้ยงทั้งกิจการและเจ้าของก็ได้

3. ขอกู้สินเชื่อยากขึ้น

การที่เจ้ากิจการชักเงินหมุนเวียนของธุรกิจออกไปใช้จ่ายเรื่องส่วนตัว ไม่เกิดรายได้กลับคืนมาให้กิจการ ทำให้กิจการมีจำนวนเงินทุนหมุนเวียนไม่ชัดเจน ประเมินยากหรือประเมินไม่ได้ และการที่ธุรกิจมีเงินหมุนเวียนไม่ชัดเจน ส่งผลให้ธนาคารไม่สามารถประเมินความสามารถของธุรกิจ สภาพคล่อง หรือตัวบ่งชี้อื่น ๆ ได้ กลายเป็นอุปสรรคในการพิจารณาสินเชื่อ อาจทำให้ขอกู้สินเชื่อผ่านยากขึ้น

4. ธุรกิจเจ๊ง เจ้าของเจ๊งตาม

ถ้าเจ้าของธุรกิจเห็นธุรกิจเป็น “บ่อเงินบ่อทอง” ของตัวเองที่คิดจะหยิบเงินออกมาใช้เมื่อไรก็ได้ ก็มีแนวโน้มว่าเจ้าของจะไม่ได้วางแผนการเงินส่วนบุคคลเอาไว้เลย ทั้งรายได้ เงินเก็บ เงินลงทุน ทั้งหมดปนเปกันอยู่ในเงินหมุนเวียนกิจการ ดังนั้นถ้าเคราะห์หามยามร้าย เกิดต้องเลิกกิจการขึ้นมา ตัวเจ้าของเองก็เจ๊งตามไปด้วย ทางที่ดีเจ้าของควรทำเหมือนตัวเองเป็นลูกจ้างคนหนึ่งของกิจการ รับเงินรายเดือน ลงบัญชีเป็นต้นทุนค่าแรงงาน แล้วก็วางแผนการเงินส่วนบุคคลจากเงินเดือนของตัวเองจะดีกว่า

แล้วที่ถูกต้องควรทำยังไง?

ขอย้ำอีกครั้ง ว่าเจ้าของควรปฏิบัติเหมือนตัวเองเป็นลูกจ้างคนหนึ่งของกิจการ ให้ค่าตอบแทนตัวเองเป็นเงินเดือนในจำนวนที่แน่นอนเหมือนกับพนักงานคนอื่น ๆ แล้วคิดจะใช้จ่ายอะไรส่วนตัว ก็เอาจากเงินเดือนนั้น โดยไม่ปะปนกับเงินของกิจการจะดีที่สุด